เพี่อนๆครับ วันนี้ผมอยากมาชวนคุยเรื่อง อาร์กติกและกรีนแลนด์ กันหน่อย เพื่อนๆไม่รู้สึกหรือว่ามันมีอะไร แปลกๆนะครับ เพราะอยู่ๆทำไมประธานาธิบดีทรัมป์ถึงออกมากล่าวว่า อยากจะได้เกาะอาร์กติกและกรีนแลนด์มาเป็นของสหรัฐอเมริกา …. วันนี้ผมจะมาเฉลยให้ฟังครับ เอาละครับ….เพื่อไม่ให้เสียเวลาเรามาเริ่มกันเลยครับ
อาร์กติกและกรีนแลนด์เคยถูกมองว่าเป็นเพียงดินแดนน้ำแข็งที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อโลกร้อนขึ้น น้ำแข็งที่เคยปกคลุมพื้นที่เป็นเวลาหลายศตวรรษกำลังละลายอย่างรวดเร็ว เผยให้เห็นทรัพยากรอันล้ำค่า เส้นทางการค้าใหม่ และโอกาสทางยุทธศาสตร์ที่ไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเหตุนี้อาร์กติกจึงกลายเป็นสนามรบแห่งใหม่สำหรับชาติมหาอำนาจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ รัสเซีย จีน หรือพันธมิตร NATO ต่างมองว่าพื้นที่นี้เป็นกุญแจสำคัญต่อการครองอำนาจในอนาคต ไม่ใช่แค่ในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงพลังงาน การค้า และอิทธิพลทางการทหาร
ในบทความนี้เราจะพาคุณสำรวจว่าทำไมอาร์กติกและกรีนแลนด์ถึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโลกในอนาคต
ในอดีตอาร์กติกเคยถูกมองว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นสุดขั้วและน้ำแข็งที่ปกคลุมตลอดปี ทำให้การเดินทางและการเข้าถึงทรัพยากรในพื้นที่นี้แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อโลกร้อนขึ้น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ อาร์กติกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อุณหภูมิในพื้นที่นี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นของโลกถึง 4 เท่า ส่งผลให้น้ำแข็งที่ปกคลุมมานานหลายศตวรรษเริ่มละลายอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งที่หายไปนี้ไม่ได้เพียงแค่เปิดเผยภูมิประเทศใหม่ๆ แต่ยังเผยให้เห็นถึงโอกาสใหม่ๆในการพัฒนาเส้นทางการค้า การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และการขยายอิทธิพลทางยุทธศาสตร์
1. จากพื้นที่รกร้างสู่สนามรบยุทธศาสตร์
น้ำแข็งที่ละลายได้เปิดเส้นทางเดินเรือใหม่ ๆ เช่น Northern Sea Route (เส้นทางเหนือรัสเซีย) และ Northwest Passage (เส้นทางเหนือแคนาดา) ซึ่งช่วยลดเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ทรัพยากรที่ถูกซ่อนอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุหายาก (Rare Earth Minerals) ได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญที่หลายประเทศต้องการครอบครอง ด้วยเหตุนี้ อาร์กติกจึงกลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ดึงดูดความสนใจจากชาติมหาอำนาจทั่วโลก การแข่งขันเพื่อเข้าถึงและควบคุมทรัพยากร รวมถึงการรักษาความปลอดภัยของเส้นทางการค้าในอาร์กติก จึงไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นความจริงที่กำลังเกิดขึ้นในวันนี้
2. เส้นทางการค้าใหม่
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้น้ำแข็งในอาร์กติกละลายไม่ได้ส่งผลเพียงต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ให้กับการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยเส้นทางการค้าใหม่ที่สำคัญได้แก่:
- Northern Sea Route (NSR): เส้นทางนี้วิ่งผ่านทางตอนเหนือของรัสเซีย เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก โดยเส้นทาง NSR สามารถลดระยะเวลาการเดินทางจากเอเชียไปยุโรปได้ถึง 40% เมื่อเทียบกับการใช้เส้นทางดั้งเดิมผ่านคลองสุเอซ
- Northwest Passage (NWP): เส้นทางนี้ผ่านทางตอนเหนือของแคนาดา เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติกเช่นกัน การใช้เส้นทาง NWP สามารถช่วยลดเวลาและระยะทางในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียกับอเมริกาเหนือ
ประโยชน์ของเส้นทางใหม่เหล่านี้ คือ การลดเวลาในการขนส่งสินค้าได้หลายสัปดาห์ เช่น การเดินทางจากจีนไปยุโรปผ่าน NSR จะใช้เวลาน้อยกว่าการเดินทางผ่านคลองสุเอซถึง 10-15 วัน นอกจากลดระยะเวลาในการขนส่งสินค้าแล้ว มันยังช่วยในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ เพราะระยะทางที่สั้นลง หมายถึง ต้นทุนการขนส่งที่ลดลง ทั้งด้านเชื้อเพลิงและเวลา อีกทั้ง มันยังเพิ่มศักยภาพการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือสามารถทำการค้ากันได้สะดวกยิ่งขึ้น รวดเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการสร้างเส้นทางใหม่ แต่ก็ยังข้อท้าทายของเส้นทางการค้าใหม่ในอาร์กติก อาทิ เช่น สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน แม้ว่าน้ำแข็งจะละลาย แต่ยังคงมีช่วงเวลาที่น้ำแข็งกลับมา ทำให้การเดินเรือในบางพื้นที่ยังไม่ปลอดภัย การเรียกร้องสิทธิ์ของประเทศต่างๆ: เช่น รัสเซียอ้างสิทธิ์เหนือ NSR ในขณะที่แคนาดาอ้างสิทธิ์เหนือ NWP แต่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ มองว่าทั้งสองเส้นทางเป็นเส้นทางน้ำสากล น่าจะต้องเปิดใช้ให้แก่ทุกประเทศในการเดินทางขนส่ง ประเด็นเหล่านี้ ก็ยังมิได้รับการแก้ไข
3. ทรัพยากรใต้พื้นน้ำแข็ง
น้ำแข็งที่ละลายในอาร์กติกได้เปิดเผยถึงทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่เคยถูกซ่อนอยู่ใต้พื้นน้ำแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าต่อเศรษฐกิจโลก ทรัพยากรสำคัญในอาร์กติก อาทิ เช่น ก๊าซธรรมชาติ อาร์กติกถือเป็นพื้นที่ที่มีก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่ได้ถูกสำรวจถึง 30% ของโลก ก๊าซธรรมชาติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการผลิตพลังงานในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชียที่มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ในเขตอาร์กติก ก็ยังมีการคาดคะเนว่า ประมาณ 13% ของน้ำมันที่ยังไม่ได้ค้นพบในโลก ถูกคาดการณ์ว่าอยู่ในพื้นที่อาร์กติก ซึ่งน้ำมันในอาร์กติกถูกมองว่าเป็นแหล่งพลังงานสำรองสำคัญในอนาคต
อีกเรื่อง ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ คือ แร่ธาตุหายาก (Rare Earth) เพราะแร่เหล่านี้จำเป็นต่อการผลิตเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น: รถยนต์ไฟฟ้า (มอเตอร์และแบตเตอรี่), สมาร์ทโฟน หรือ อุปกรณ์ทางการทหาร (เรดาร์ อาวุธไฮเทค) ความต้องการแร่ธาตุหายากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ดังนั้น การขุดค้นทรัพยากรเหล่านี้ช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับประเทศที่มีเขตแดนติดอาร์กติก เช่น รัสเซีย แคนาดา และนอร์เวย์ เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดทำให้มหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ รัสเซีย และจีน แข่งขันกันเพื่อเข้าถึงและครอบครองสินทรัพย์ใต้ดินเหล่านี้ แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ การขุดเจาะน้ำมันและก๊าซในอาร์กติกเพิ่มความเสี่ยงต่อมลพิษ เช่น น้ำมันรั่วไหลที่อาจทำลายระบบนิเวศ และ การขุดแร่ธาตุอาจสร้างผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นและชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้
4. กรีนแลนด์: ศูนย์กลางยุทธศาสตร์
กรีนแลนด์ไม่ได้เป็นเพียงดินแดนน้ำแข็ง แต่มีบทบาทสำคัญในภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก เพราะกรีนแลนด์ตั้งอยู่ใกล้กับอาร์กติกเซอร์เคิล ทำให้เหมาะสมสำหรับการติดตั้งระบบเรดาร์และฐานทัพทางการทหาร และใช้เป็นพื้นที่สำคัญในการสอดแนมและเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวในอาร์กติก แม้ว่ากรีนแลนด์จะมีการปกครองตนเอง แต่ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของเดนมาร์ก ซึ่งทำให้เดนมาร์กมีบทบาทสำคัญในอาร์กติก เพื่อนๆ ต้องไม่ลืมว่า เดนมาร์กเป็นสมาชิกของ NATO ทำให้กรีนแลนด์กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในความมั่นคงของกลุ่ม NATO
5. มหาอำนาจและการแข่งขันในอาร์กติก
อาร์กติกได้กลายเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญที่ดึงดูดความสนใจจากมหาอำนาจทั่วโลก เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และเส้นทางการค้าใหม่ที่กำลังเปิดขึ้นจากการละลายของน้ำแข็ง ประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน ต่างเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ เพื่อแสวงหาอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการทหาร
รัสเซีย: ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และศักยภาพทางการทหาร. รัสเซียครองตำแหน่งสำคัญในอาร์กติกด้วยชายฝั่งที่ยาวที่สุดในโลก รวมถึงเส้นทาง Northern Sea Route ที่เชื่อมเอเชียและยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัสเซียยังมีเรือตัดน้ำแข็งมากกว่า 50 ลำ ซึ่งมากกว่าสหรัฐฯ ที่มีเพียง 6 ลำ ทำให้รัสเซียสามารถดำเนินการในพื้นที่น้ำแข็งได้ดีกว่าประเทศอื่น นอกจากนี้ รัสเซียยังขยายฐานทัพในอาร์กติกและพัฒนาโครงการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในภูมิภาค
สหรัฐฯ: การเพิ่มอิทธิพลในอาร์กติก. สหรัฐฯ กำลังเพิ่มบทบาทในอาร์กติกอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับความเคลื่อนไหวของรัสเซียและจีน โดยการเพิ่มงบประมาณด้านการทหารในอลาสกาและกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้เปิดสถานกงสุลในกรีนแลนด์อีกครั้งในปี 2020 หลังจากปิดไปกว่า 67 ปี การเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของสหรัฐฯ ที่จะรักษาอิทธิพลในภูมิภาคนี้
จีน: ยุทธศาสตร์ระยะยาวในอาร์กติก. แม้จีนไม่มีชายฝั่งติดอาร์กติก แต่จีนได้เรียกตัวเองว่า “รัฐใกล้อาร์กติก” (Near-Arctic State) เพื่อแสดงความสนใจในภูมิภาคนี้ จีนได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือและเส้นทางการค้าในอาร์กติก รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยและการสำรวจทรัพยากรในพื้นที่ โดยจีนมองว่าอาร์กติกเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ระยะยาวที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง
การแข่งขันในอาร์กติกระหว่างรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิภาคนี้ในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงทั้งทรัพยากรธรรมชาติ การค้า และการทหาร ความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์โลกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
6. ความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์
ข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในอาร์กติก อาร์กติกเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่า เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ธาตุหายาก ซึ่งดึงดูดความสนใจจากหลายประเทศในฐานะพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในอาร์กติกกลับกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก ภายใต้กรอบของ UNCLOS (United Nations Convention on the Law of the Sea) ประเทศต่างๆ สามารถอ้างกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ใต้ทะเลได้ หากสามารถพิสูจน์ได้ว่าพื้นที่นั้นเป็นส่วนหนึ่งของไหล่ทวีปของตน ความขัดแย้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ เดนมาร์ก รัสเซีย และแคนาดา ต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่เดียวกันที่รวมถึงขั้วโลกเหนือ. ปัญหาที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ สร้างความตึงเครียดและอาจนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างประเทศ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือในปี 2007 รัสเซียวางธงชาติใต้มหาสมุทรอาร์กติก เพื่อยืนยันการอ้างสิทธิ์ของตนในพื้นที่
นอกจากความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอาร์กติกยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำแข็งที่ละลายอย่างรวดเร็วทำให้ ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น คุกคามเมืองชายฝั่ง เช่น นิวยอร์ก และ จาการ์ตา ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วม นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากน้ำแข็งที่ละลายช่วยลดความสามารถในการสะท้อนความร้อนของโลก การขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติกจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมลพิษ โดยเฉพาะการ รั่วไหลของน้ำมัน ที่อาจทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ที่เปราะบาง ความเสียหายเหล่านี้อาจใช้เวลานานหลายสิบปีในการฟื้นฟู
ปัญหาสำคัญ คือ ชนพื้นเมืองในอาร์กติกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม เนื่องจากพื้นที่ของพวกเขาถูกพัฒนาเพื่อการขุดค้นทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะส่งผลต่อวิถีชีวิตของชนพื้นเมือง เช่น การล่าสัตว์และการประมง
ข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ในอาร์กติกไม่ได้เป็นเพียงปัญหาทางกฎหมาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนทั่วโลก การแข่งขันเพื่อครอบครองทรัพยากรในพื้นที่นี้ควรดำเนินไปด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และประเทศต่างๆ ควรร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน เพื่อรักษาอาร์กติกให้คงอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป
7. การรีเซ็ตอำนาจโลกในอาร์กติก: จุดเปลี่ยนของภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจโลก
อาร์กติกไม่ได้เป็นเพียงภูมิภาคที่เปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นเวทีสำคัญของการแข่งขันระดับโลก มหาอำนาจอย่างรัสเซีย จีน และพันธมิตร NATO ต่างเร่งสร้างบทบาทและอิทธิพลในพื้นที่นี้ การแข่งขันเพื่อครอบครองทรัพยากรธรรมชาติ เส้นทางการค้า และความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ ทำให้อาร์กติกกลายเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ในศตวรรษที่ 21. การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในดินแดนนี้ เช่น รัสเซียมีความได้เปรียบจากการครอบครองชายฝั่งอาร์กติกที่ยาวที่สุดในโลก รวมถึงการควบคุมเส้นทางการเดินเรือ Northern Sea Route ซึ่งเชื่อมโยงยุโรปและเอเชีย จีนแม้ไม่มีชายฝั่งในอาร์กติก แต่ด้วยยุทธศาสตร์ระยะยาวในการเป็น “รัฐใกล้อาร์กติก” จึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการวิจัยอย่างมหาศาล ในขณะเดียวกัน พันธมิตร NATO นำโดยสหรัฐฯ ก็กำลังเพิ่มบทบาทในภูมิภาคนี้เพื่อถ่วงดุลอำนาจของรัสเซียและจีน
ข้อสรุปที่ผมได้จากการค้นคว้า คือ อาร์กติกไม่ได้มีความสำคัญแค่ในเชิงทรัพยากรธรรมชาติและการค้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก เส้นทางการค้าทางเรือใหม่ในอาร์กติกสามารถลดเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้อย่างมหาศาล ทรัพยากรธรรมชาติที่ยังไม่ได้สำรวจ เช่น น้ำมันและแร่ธาตุหายาก อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอำนาจทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศต่าง ๆ ในอนาคต อาร์กติกจะไม่เพียงแค่เป็นภูมิภาคที่เปราะบางต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่กำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคงโลก ความเคลื่อนไหวในอาร์กติกจึงไม่ใช่เรื่องที่มองข้ามได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้จะสะท้อนผลกระทบต่อทั้งโลกในระยะยาว
ศิษย์ สุมาเต็กโซ