ผมขอวิจารณ์ระบบการเงินของโลกในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าหน่อยครับ เรื่องที่ผมยกมา คือ ความกังวลเกี่ยวกับ “การล่มสลายทางการเงิน” ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2025 ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการทำนายหรือเตือนภัยล่วงหน้าเกี่ยวกับวิกฤตการเงินทั่วโลกจากหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่สูงมากและต้องชำระหนี้ถึง $7 ล้านล้านในปีนั้น มันจะส่งผลเหมือนสึนามิ ที่จะกระทบไปยังระบบการเงินโลกในประเทศต่างๆ ในท้ายที่สุด ครับ ผมคิดว่า เรามาแยกเป็นข้อ ๆ และอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นแบบย่อๆ ครับ :
1️. ดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น
เมื่อหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะลดลง นักลงทุน หรือประเทศที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มมีความกังวลใจในการถือครองพันธบัตรนั่นเป็นระยะเวลายาว ดังนั้น สิ่งเหล่านี้จะบีบให้รัฐบาลสหรัฐฯ จำเป็นต้องออกพันธบัตรในอัตราดอกเบี้ยที่สูงเพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตร และ มันก็คือความต้องการของนักลงทุนหรือประเทศที่ลงทุนในพันธบัตรนั่น เขาต้องดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง ส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวพุ่งสูงขึ้น เช่น ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อธุรกิจ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะงัก เพราะผู้คนไม่สามารถกู้ยืมหรือใช้จ่ายได้ตามปกติ
2️. ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าชั่วคราว
ค่าเงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น เนื่องจากความต้องการสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe Haven) ของนักลงทุนในช่วงที่ตลาดเผชิญกับความไม่แน่นอน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจหรือความผันผวนของตลาดโลก เป็นต้น แต่ความแข็งค่านี้อาจเป็นเพียง “ภาพลวงตา” เพราะเมื่อเศรษฐกิจและหนี้สินสหรัฐฯ ยังคงไม่สมดุล สกุลเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในระยะยาว เพราะปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เช่น หนี้สาธารณะสูงและการขาดดุลการคลัง จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจลดลง
3. การล่มสลายของเงินตรา Fiat
เมื่อรัฐบาลและธนาคารกลาง (Federal Reserve) พิมพ์เงินออกมาชดเชยหนี้จำนวนมหาศาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ จะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) ซึ่งทำให้กำลังซื้อของเงินลดลง ผลลัพธ์ ก็คือ สกุลเงิน Fiat (เช่น ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งไม่มีสินทรัพย์รองรับ อาจเสื่อมค่าลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนจะต้องใช้เงินมากขึ้นเพื่อซื้อสินค้าและบริการเดิม ดังนั้น เมื่อความเชื่อมั่นในระบบเงินตราแบบ Fiat ลดลง อาจนำไปสู่การหันมาใช้สินทรัพย์อื่น เช่น ทองคำหรือสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่ถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
4. การล่มสลายของตลาดสินทรัพย์
ตลาดสินทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หุ้น และสินทรัพย์หรูหรา อาจเข้าสู่ช่วงล่มสลายเมื่อเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อ ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ทำให้การกู้ยืมมีต้นทุนที่แพงขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนและผู้ซื้อไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนได้เหมือนเดิม เมื่อเข้าถึงเงินทุนไม่ได้ แต่อีกพวก ก็พร้อมที่จะแห่ขายเพื่อหาสภาพคล่อง บริษัทหรือร้านค้า หรือ นักลงทุนที่ต้องการเงินสด ในมือ ในภาวะเศรษฐกิจตึงเครียด จะขายสินทรัพย์ออกมาเป็นจำนวนมาก อันจะทำให้ราคาสินทรัพย์ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย ก็กำลังเผชิญปัญหาทางสถาพคล่องแบบเดียวกัน
ตัวอย่าง:
- ในปี 2008 วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ ทำให้ราคาบ้านลดลงถึง 30-50% ในบางพื้นที่ เนื่องจากผู้กู้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้ได้
- ตลาดหุ้นในช่วงเดียวกันก็เผชิญกับการขายหุ้นในวงกว้างเพื่อรักษาสภาพคล่อง ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 ลดลงกว่า 50% จากจุดสูงสุด
5. การยึดทรัพย์ในวงกว้าง
ในช่วงเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะตึงเครียด หรือที่ชาวบ้าน มักจะเรียกว่า เศรษฐกิจขาลง เราจะเห็น คนจำนวนมากที่ไม่สามารถผ่อนชำระสินทรัพย์ที่กู้มา ผู้ที่มีหนี้สินมาก แต่รายได้น้อยลง เช่น สินเชื่อบ้านหรือรถยนต์ อาจไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดได้ นำไปสู่การถูกยึดทรัพย์และ:สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม
- บ้านถูกยึด: ธนาคารหรือผู้ให้สินเชื่อจะเข้ามายึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาด ทำให้คนสูญเสียที่อยู่อาศัย
- รถยนต์ถูกยึด: ผู้ที่ซื้อรถยนต์โดยใช้สินเชื่อจะต้องคืนรถยนต์หากไม่สามารถผ่อนชำระได้
ตัวอย่าง:
- ในวิกฤติซับไพรม์ มีการยึดบ้านกว่า 3 ล้านหลังในสหรัฐฯ ระหว่างปี 2007-2010
- ในปี 2020 ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้คนจำนวนมากถูกยึดรถยนต์เนื่องจากขาดรายได้จากการตกงาน
- การปิดตัวลงของร้านค้า ธุรกิจจำนวนมาก จะทำให้คนงานหลายคนต้องตกงาน ไม่มีรายได้ และรัฐบาลก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินภาษีได้ตรงเป้าหมาย ทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณขาดดุล และชดเชยส่วนที่ขาด โดยการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ หรือจากแหล่งภายในประเทศ แล้วแต่กรณี ดังนั้น การเดินนโยบายของรัฐบาล ควรจะเสริมสร้างอาชีพ และหางานให้คนตกงาน แทนการแจกเงิน หรือประชานิยมซึ่งจะซ้ำเติมเศรษฐกิจในภาพรวม อย่างยิ่ง
6. การล่มสลายของตลาดหุ้น
ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างหนักเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ โดยเฉพาะหุ้นที่นักลงทุนใช้เงินกู้ (Margin) เพื่อซื้อ ผู้ลงทุนในหุ้นที่มีการกู้ยืมเงิน หรือ ที่เรามักจะเรียกว่า เล่นแบบ margin เพื่อการลงทุนจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด ราคาหุ้นจะร่วงลงอย่างรุนแรง นักลงทุนจำนวนมาก รวมถึงคนที่ร่ำรวยที่สุด จะเผชิญความสูญเสียครั้งใหญ่ และเมื่อสถาพคล่องไม่มี หุ้นเหล่านี้จะถูกบังคับขาย ทำให้ราคาหุ้นเหล่านี้ อาจจะตกลงได้อย่างมาก นำมาซึ่งความสูญเสีย เพราะ:
- แรงขายจากมาร์จิ้นคอล (Margin Call): เมื่อตลาดตกต่ำและราคาหุ้นลดลง นักลงทุนที่ใช้เงินกู้จะถูกบังคับขายหุ้นเพื่อชำระหนี้
- ความเชื่อมั่นลดลง: นักลงทุนรายใหญ่และสถาบันต่าง ๆ อาจตัดสินใจขายสินทรัพย์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นดิ่งลงอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่าง:
- การล่มสลายของตลาดหุ้นในปี 1929 ส่งผลให้ตลาด Dow Jones ลดลงกว่า 80% ภายใน 3 ปี และนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)
- ในปี 2020 ระหว่างวิกฤติโควิด-19 ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงอย่างรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โรคระบาด
ตัวอย่าง ที่เราเห็นกันในหลายหุ้นในประเทศไทย ตัวอย่างหุ้นที่มีความเสี่ยงต่อการถูกบังคับขาย:
- SCM (บริษัท ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ จำกัด (มหาชน)): มีการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้นสูงถึง 52.09% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2567
- YGG (บริษัท อิ๊กดราซิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)): ในเดือนมิถุนายน 2567 มีการวางหุ้นเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น 46.22% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และมีกรณีการบังคับขายหุ้นของผู้ถือหุ้นใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 2567
- GPI (บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)): มีการวางหุ้นเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น 51.12% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2567
- TFG (บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)): มีการวางหุ้นเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น 45.46% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2567
- SAAM (บริษัท เอสเอเอเอ็ม เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)): มีการวางหุ้นเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิ้น 49.88% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดในเดือนมิถุนายน 2567
- ทองคำและเงิน: สินทรัพย์ปลอดภัยสุดท้าย
เมื่อทุกอย่างล่มสลาย หรือ ในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนหรือระบบการเงินล่มสลาย ทองคำและเงิน (โลหะมีค่า) ซึ่งไม่ได้พึ่งพาระบบการเงินสมัยใหม่ จะกลายเป็น “ที่หลบภัย” สำหรับการรักษามูลค่าทรัพย์สิน ทองคำ และแร่เงิน มีคุณค่าที่จับต้องได้และเป็นที่ยอมรับทั่วโลก
ตัวอย่าง:
- ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติปี 2008 ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นถึง $1,900 ต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนมองหาสินทรัพย์ปลอดภัย
8️. ความล้มเหลวของระบบธนาคาร
เมื่อผู้คนหมดความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ธนาคารอาจจะต้องเผชิญกับการถอนเงินจำนวนมาก (Bank Run) หรือ หนี้เสียและการจัดการเงินทุนที่ผิดพลาดของธนาคาร จนอาจจะต้องมีการบังคับให้ผู้ฝากเงินร่วมรับผิดชอบ (Bail-In) เพื่อรักษาสภาพคล่องของธนาคาร ระบบธนาคารทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ผลกระทบ: ระบบธนาคารทั่วโลกอาจประสบปัญหาล้มละลาย นำมาซึ่งประชาชนสูญเสียความมั่นใจในระบบการเงิน หรือ กลัวในการฝากเงินไว้กับธนาคารอีกต่อไป
ตัวอย่าง:
- วิกฤติธนาคารในกรีซ (2015): ผู้ฝากเงินถูกจำกัดการถอนเงิน และระบบธนาคารเกือบล่มสลาย
9️. การรีเซ็ตระบบเศรษฐกิจ (The Great Reset)
- ความหมายของ The Great Reset: การเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่แค่การปรับฐานตลาด แต่เป็นการล่มสลายของระบบเศรษฐกิจเก่า แล้วสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงการออกแบบใหม่ของสกุลเงินดิจิทัล (CBDCs) หรือการใช้ระบบการเงินแบบใหม่ เพราะ ระบบการเงินแบบเก่า (เช่น Fiat Currency) อาจถูกแทนที่ด้วยระบบใหม่ การทำงานและโครงสร้างของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปอย่างถาวร
ตัวอย่าง: การเปลี่ยนแปลงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2: การก่อตั้งระบบ Bretton Woods เพื่อกำหนดระบบการเงินโลกใหม่
คำแนะนำสำหรับการรับมือ
- ปรับพอร์ตการลงทุน:
- กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำหรือเงิน เพื่อลดความเสี่ยง
- พิจารณาลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
- ลดการพึ่งพาหนี้สิน:
- หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน
- เตรียมแผนการเงิน:
- เก็บเงินสดสำรองในระดับที่เพียงพอ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน
- วางแผนการเงินระยะยาวที่เน้นความมั่นคงและยืดหยุ่นต่อความเปลี่ยนแปลง
ผมหวังว่าสิ่งที่ผมแนะนำจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สวัสดีครับ
ศิษย์ สุมาเต็กโซ