Search
Close this search box.

คำถาม “เกิดอะไรขึ้นในโลกกับทองคํา?”

ตามที่เราได้ทราบกันมาแล้วว่า ระยะนี้ราคาทองคําเพิ่มขึ้นอย่างมาก 28% ในปี 2024 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,660 ดอลลาร์/ออนซ์ สิ่งเหล่านี้ทําให้ Gold อยู่ในเส้นทางที่ถือได้ว่า ให้ผลตอบแทนประจําปีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกลางของสหรัฐฯ พยายามทำให้เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯค่อยๆลดความร้อนแรง หรือที่เรียกว่า “soft landing”

ภาวะเช่นนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังบอกอะไรเราหรือเปล่า ?

หากทองคําสามารถถือราคาปิดที่ราคาปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม นั่นหมายถึงว่า ปีนี้จะเป็นปีทองคำที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2010

อย่างไรก็ตาม หากอัตรายังคงเดินหน้าต่อไปและยังคงดําเนินต่อไปหลังจากนั้น ราคาทองคําอาจถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1979 นั่นหมายถึงราคาทองคําจะเพิ่มขึ้นถึง 126% ในปีเดียว ดูประหนึ่งว่าทองคำมีกําลังซื้อขายเหมือนหนึ่งว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างไรอย่างนั้นเลยครับ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? นี่คือคำถามที่ผมถามตัวเองครับ

เพื่อนๆจะเห็นพาดหัวข่าวทั้งหมดที่ระบุว่าการเพิ่มขึ้นของทองคําเกิดจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก แม้ว่านี่จะเป็นปัจจัยอย่างหนึ่ง แต่หากเรามองดูลึกๆผมคิดว่ามันต้องมีบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นครับ กล่าวคือ แม้ว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์จะสงบลงบ้าง แต่ทองคําก็แตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในปีนี้

สิ่งนี้นําไปสู่ตัวขับเคลื่อนหลักอีกตัวของราคาทองคํา นั่นคือธนาคารกลางของสหรัฐฯ เพื่อนๆก็น่าจะทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่า ธนาคารกลางของสหรัฐฯมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% อันเป็นการสร้างความประหลาดใจและยังเป็นที่ถกกันว่า น่าจะมีการลดดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.50 – 1% อีกครั้งเป็นอย่างน้อยหนึ่งในปีนี้

ปฏิกิริยาของธนาคารกลางของสหรัฐฯที่กำลังลดอัตราดอกเบี้ย เหมือนราวกับว่า เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย ในขณะเดียวกันธนาคารกลางของสหรัฐฯก็เรียกร้องให้มี “soft landing” ดูมันขัดแย้งกันเองนะครับ

ปัญหาที่แท้จริงของประเทศสหรัฐฯ นั่นคือหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของหนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ตอนนี้อยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์ต่อวันนี้เป็นตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ หรือ ราวสามเท่าของจํานวนเงินที่จ่ายเมื่อ 10 ปีที่แล้วและเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุกๆ 2.5 ปี ครับ ต้นทุนดอกเบี้ยประจําปีรวมสูงถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2024 ในเดือนกรกฎาคมของปีนี้ หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐทั้งหมดแตะที่ 35 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 2020 ประเทศสหรัฐฯ ได้เพิ่มหนี้ของรัฐบาลกลางประมาณ 12 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่ง สหรัฐฯ ได้เพิ่มหนี้ของรัฐบาลกลางเฉลี่ยประมาณ 280 พันล้านดอลลาร์ทุกเดือนตั้งแต่เดือนมกราคม 2020

นี่คือวิกฤตตัวจริง (เพื่อนๆคงต้องตระหนักว่า หลายประเทศทั่วโลกถือเงินดอลลาร์เป็นส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ เนื่องจากเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคงและได้รับความเชื่อถือสูงจากทั่วโลก ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) แสดงให้เห็นว่ามากกว่า 50% ของเงินสำรองทั่วโลกยังคงอยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ และ การค้าระหว่างประเทศจำนวนมาก เช่น การซื้อขายน้ำมัน การค้าสินค้าโภคภัณฑ์ และการค้าสินค้าอื่นๆยังมีการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินกลาง สถิติล่าสุดชี้ว่าประมาณ 60-70% ของการค้าโลกยังคงดำเนินการในดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตามแม้โลกกำลังเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางส่วน เนื่องจากมีบางประเทศ อาทิเช่น กลุ่ม BRICS ที่พยายามเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินของตัวเองในการค้าระหว่างประเทศ หรือใช้สกุลเงินอื่น เช่น ยูโร หรือหยวน แต่ดอลลาร์ยังคงมีบทบาทสำคัญในตลาดโลก)

เมื่อธนาคารกลางของสหรัฐฯเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย มันส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ($DXY) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความแข็งแกร่งของดอลลาร์เทียบกับตะกร้าสกุลเงินหลัก ถูกกดดันลงอย่างหนัก สาเหตุหลักมาจากการที่การลดอัตราดอกเบี้ยทำให้ผลตอบแทนของเงินดอลลาร์ลดลง ทำให้นักลงทุนเปลี่ยนการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นหรือปลอดภัยกว่า ซึ่งส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยยังบ่งชี้ถึงการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และมองหาสกุลเงินที่มีความมั่นคงมากกว่า เช่น ยูโรหรือเยน ซึ่งช่วยเร่งการอ่อนตัวของดัชนีดอลลาร์มากขึ้น

เหตุการณ์ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยโยกย้ายเงินจากค่าเงินดอลลาร์ ไปยัง ประเทศอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงภัย และ รักษาสถานการณ์ลงทุนของตนเองไม่ให้ขาดทุนมาก ดังนั้นเพื่อนๆจะเห็นว่า ค่าเงินในสกุลอื่นๆเริ่มแข็งแรงขึ้นทันทีและราคาทองคําเริ่มขยับตัวขึ้นครับ

เหตุการเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครับ เมื่อประเทศสหรัฐฯเริ่มนโยบายการลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2008 มันก็ส่งผลให้ราคาทองคําทะลุเพดานขึ้นไปเลยครับ ในขณะเดียวกันการใช้จ่ายของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็น % ของ GDP เพิ่งแตะ 43% ซึ่งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน นี้ มันก็ตรงกับสิ่งที่ปรากฏในช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 ครับ

เพื่อให้เห็นภาพนี้ การใช้จ่ายเป็น % ของ GDP ต่ำกว่าระดับสงครามโลกครั้งที่ 2 แค่ 1% มันทำให้ผมมองว่า รัฐบาลสหรัฐฯกําลังใช้จ่ายราวกับว่าประเทศของเขาอยู่ในภาวะวิกฤต รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง นางเยลเลน และประธานของธนาคารกลางของสหรัฐฯ นายพาวเวลล์ กล่าวถึงสถานการณ์ เช่นนี้ ว่า เป็น soft landing มันใช่หรือเปล่าครับ การใช้จ่ายสูงในระดับสงครามโลกครั้งที่ 2 และเรียกร้องให้มี “soft landing ” ดูมันไม่น่าจะใช่ครับ

สรุปทั้งหมดแล้ว ผมคิดว่า :

  1. เศรษฐกิจโลกที่อ่อนกําลังลง
  2. ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลกเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น
  3. ดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023
  4. การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของสหรัฐ นั้น คล้ายคลึงกับวิกฤตทางการเงิน ในปี 2008
  5. การขาดดุลการใช้จ่ายของรัฐบาลในระดับใก้ลเคียงกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ทั้งหมดนี้ ทองคํา รู้ว่านี่ไม่ใช่ “soft landing” ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพันธบัตรทั้งหมดเริ่มแสดงสัญญาณที่คล้ายคลึงกันในทิศทางเดียวกันครับ

นี่คือสัญญาณที่แสดงออกมาว่า มันไม่ใช่ soft landing และ มันมีอะไรลึกกว่าการลดดอกเบี้ยธรรมดาๆครับ

กิตติ ปิณฑวิรุจน์​ / เขียนบทความ

แบ่งปันบทความนี้