แม้ว่าประกันชีวิตจะถือเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการสร้างความคุ้มครองเพื่อปกป้องความมั่งคั่งในยามที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่การมีจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันชีวิตที่เหมาะสมและพอดี มีความคุ้มครองชีวิตอย่างเพียงพอ ก็จำเป็นไม่ใช่น้อย
จึงขอถือโอกาสในบทความนี้ อธิบายแนวคิดคร่าว ๆ แบบ 2 แนวคิด เพื่อให้สามารถเข้าใจในหลักการคำนวณได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น
1.คำนวณจากรายได้
สำหรับแนวคิดนี้ เกิดขึ้นจากจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับประกันชีวิต ควรจะมีการเพิ่มขึ้นตามความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล และสามารถคิดคำนวณออกมาได้จากความสามารถในการหารายได้และความจำเป็นที่คนอื่นจะต้องพึ่งพารายได้ของบุคคลนััน
ซึ่งจะเป็นการคิดคำนวณโดยมองว่า นับจากวันนี้ไปจนถึงวันที่เกษียณอายุ หรือวันที่เลิกทำงานเพื่อหารายได้แล้ว(ไม่มี Active Income แล้ว) รายได้สุทธิที่คาดหวังว่าจะสามารถหาได้ในอนาคตในช่วงชีวิตการทำงานที่เหลืออยู่ คิดเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ แล้วคำนวณกระแสเงินสดจากรายได้เหล่านั้น ย้อนกลับมาเป็นมูลค่ารวมสุทธิในปัจจุบัน โดยคิดคำนวณจาก 5 ปัจจัยหลัก ๆ อันได้แก่ รายได้สุทธิ ณ ปัจจุบันหลังหักภาษี อัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้สุทธิ ระยะเวลาการทำงานที่ยังเหลืออยู่ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอัตราเงินเฟ้อ
จำนวนเงินที่คิดคำนวณออกมาได้เป็นทุนประกันชีวิตแล้ว จึงเปรียบเสมือนว่า หากวันใดวันหนึ่งที่คุณจากไป จะมีเงินก้อนออกมามอบให้คนภายในครอบครัว เพื่อชดเชยรายได้ของครอบครัวที่ขาดหายไปเพราะการจากไปของคุณ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวสามารถนำเงินก้อนนี้ไปเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตต่อไปได้ โดยที่จะต้องนำทุนที่ได้รับมานั้น ไปลงทุนต่อตามความเสี่ยงที่เหมาะสมด้วย โดยทยอยถอนเงินทุนนั้นออกมาใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ในระดับที่เพียงพอในแต่ละปี เสมือนตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่และหารายได้มาจุนเจือครอบครัวเช่นเดิม
2.คำนวนจากความจำเป็น
สำหรับแนวคิดนี้ เป็นการพิจารณาถึงความต้องการตามความจำเป็นด้านเงินสด (Cash Needs) เพื่อปลดภาระพันธะผูกพันต่าง ๆ ที่มีอยู่ของคุณ กับความต้องการตามความจำเป็นด้านรายได้ (Income Needs) ซึ่งคิดมาจากความสามารถทางการเงินที่คุณสามารถหารายได้มาอุปการะครอบครัว
แนวคิดนี้ เริ่มต้นด้วยการประมาณการกระแสเงินสดที่ต้องการใช้เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครอบครัวและผู้อยู่ในอุปการะ ว่าจำเป็นต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ในแต่ละปี
จากนั้นจึงคำนวณเงินทุนที่ต้องการ เพื่อนำไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ในรูปแบบกระแสเงินสดออกมาเท่ากับค่าใช้จ่ายดังกล่าว ตามความเสี่ยงที่เหมาะสมและยอมรับได้ ซึ่งก็มีตัวแปรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการคำนวณด้วย เช่น อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนหลังหักภาษีตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และอัตราเงินเฟ้อ
ผลลัพธ์จากการคำนวณนี้ จึงเปรียบเสมือนการคิดคำนวณว่า ครอบครัวของคุณต้องการเงินสดจากจำนวนเงินเอาประกันภัยเพื่อนำไปลงทุนเท่าไหร่ ให้สามารถสร้างผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ตามความเสี่ยงที่ครอบครัวยอมรับได้ และนำผลตอบแทนที่ได้รับมานั้นในแต่ละปี ไปใช้จ่ายได้โดยไม่ต้องนำเงินต้นออกมาใช้ ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว การคำนวณในลักษณะนี้ หากต้องการผลตอบแทนหรือผลประโยชน์ที่คาดหวังต่อปีเป็นจำนวนมาก จะทำให้มูลค่าจำนวนเงินเอาประกันภัยนั้นสูงมากตามไปด้วย จนไม่นิยมนำมาใช้ในการคำนวณจำนวนเงินเอาประกัน
อ.ฉัตรชัย ผาสุขธรรม / เขียนบทความ
#tiivarietytalk #ทีไอไอทอล์ค #ประกันภัย #ประกันชีวิต #ประกันวินาศภัย