เนื่องจากประกันชีวิตผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักโฆษณาโดยเน้นจุดขายเรื่องการไม่ต้องตรวจสุขภาพ และไม่ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติสุขภาพก่อนทำประกันเพื่อดึงดูดใจลูกค้าสูงวัย หลายคนจึง “เข้าใจผิด” เวลาตัดสินใจซื้อประกันชีวิตให้พ่อแม่ เพราะคิดว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมเรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะประกันชีวิตผู้สูงอายุถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนอาวุโสที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้ว ซึ่งทำประกันชีวิตแบบทั่วไปไม่ได้หรือไม่มีกำลังทรัพย์มากพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันแพงๆ แต่ยังต้องการความคุ้มครองเมื่อเสียชีวิต
ด้วยเหตุนี้ ประกันชีวิตผู้สูงอายุจึงจ่ายเงินเอาประกันในกรณีเสียชีวิตเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงการเบิกค่ารักษาพยาบาลหรือการรักษาตัวภายในโรงพยาบาล จึงไม่ใช่ทั้งประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจผิด
ดังนั้น เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลของพ่อแม่สูงวัยที่ไม่ได้คาดฝันในอนาคต ควรทำประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุควบคู่กันไปด้วย โดยอาจเลือกซื้อสัญญาเพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมความต้องการ
ประกันชีวิตผู้สูงอายุ
ประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะกำหนดช่วงอายุที่สามารถทำประกันได้ตั้งแต่ 50-70 ปี โดยจะได้รับความคุ้มครองไปจนถึงอายุ 80-90 ปี หรือตลอดชีพขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน ดังนั้น หากแบบประกันใดๆ ที่สามารถทำสัญญาได้ก่อนอายุ 50 ปี หรือหลังอายุ 70 ปี จะถือว่าเป็นประกันในรูปแบบทั่วไป ไม่ใช่ประกันสำหรับผู้สูงอายุ แม้ว่าจะมีระยะเวลาคุ้มครองในช่วงอายุ 50-90 ปีก็ตาม เช่น
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ทำได้จนถึงอายุ 50 ปี
- ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ทำได้ก่อนอายุ 50 ปีจนถึง 70 ปี
- ประกันอุบัติเหตุผู้สูงอายุ ทำได้จนถึงอายุ 75 ปี
ซึ่งสามารถสอบถามรายละเอียดค่าเบี้ยประกันและผลประโยชน์เพิ่มเติมจากตัวแทนประกันที่คุณไว้วางใจ
อ.ฉัตรชัย ผาสุขธรรม / เขียนบทความ
#tiivarietytalk #ทีไอไอทอล์ค #ประกันภัย #ประกันชีวิต #ประกันวินาศภัย