แม้ว่ายังไม่มีคำนิยามที่เป็นมาตรฐานสำหรับการวางแผนการเงิน แต่เราอาจให้คำนิยามได้ดังนี้ “การจัดทำแผนการเริ่มปฏิบัติ และติดตามตรวจสอบแผนการเงินสมบูรณ์แบบ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินส่วนบุคคล” นิยามนี้เน้นย้ำความจริงที่ว่าจุดเริ่มต้นในการร่างแผนการเงินขึ้นอยู่กับเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ของลูกค้า ไม่ใช่แผนสำเร็จรูปที่เตรียมเสนอสินค้า และบริการที่คิดไว้ล่วงหน้า การวางแผนการเงินยังเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องโดยเหตุที่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของลูกค้า รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
วัตถุประสงค์ของการวางแผนการเงิน
การวางแผนการเงินเป็นส่วนสำคัญยิ่งในชีวิตของเรา โดยช่วยให้เรามีเงินพอแก่ความต้องการ และ บรรลุเป้าหมายทางการเงิน วัตถุประสงค์ในการวางแผนทางการเงิน จึงเป็นดังนี้
- เพื่อกำหนดทิศทาง และวิธีการในการตัดสินใจทางการเงิน
- เพื่อทำความเข้าใจว่าเมื่อตัดสินใจเรื่องการเงินด้านใด ก็จะส่งผลกระทบถึงการเงินด้านอื่นๆด้วย
- เพื่อให้บุคคลสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิตได้ง่ายขึ้น และมีความสงบทางใจ
ขอบเขตในการวางแผนการเงิน
แผนการเงินส่วนบุคคล ควรจะมีความสมบูรณ์เพียงพอที่จะครอบคลุมความจำเป็นทางการเงินทุกด้านของลูกค้าและช่วยให้พวกเขาบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ในแต่ละด้าน แผนนี้ควรมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะตอบสนองความจำเป็นและความต้องการส่วนบุคคลของลูกคา ซึ่งแตกต่างกันไป
การบริหารความเสี่ยง และการวางแผนประกัน ว่าด้วยเรื่องของความคุ้มครอง และทำให้แผนการเงินสามารถป้องกันความเสี่ยงจากการขาดเงินสดหมุนเวียน โดยการจัดการเรื่องการเงิน และการประกันอย่างมีประสิทธิผล
การวางแผนลงทุน วางแผน ทำแผน และจัดการการนำเงินไปลงทุน และสะสมเพื่อให้มีกระแสเงินสดที่ดีในอนาคต เพื่อการใช้จ่าย และลงทุนต่อไปอีก
การวางแผนภาษี การวางแผนเพื่อลดภาระภาษีให้น้อยที่สุด เพื่อให้มีกระแสเงินสดไปใช้สำหรับเป้าประสงค์อื่น ๆ
การวางแผนเกษียณอายุ การวางแผนเพื่ออิสระทางการเงินเมื่อเกษียณ
การวางแผนมรดก การวางแผนเพื่อสะสม อนุรักษ์ และแจกจ่ายทรัพย์สิน
6 ขั้นตอนในกระบวนการวางแผนการเงินสมบูรณ์แบบ
การวางแผนการเงินเป็นกระบวนการที่เป็นส่วนตัว และเฉพาะบุคคลอย่างยิ่ง จึงต้องพิจารณาปัจจัยทั้งทางด้านจิตวิทยา และด้านการเงินทุกข้อที่อาจมีผลกระทบต่อเป้าหมาย และวัตถุประสงค์รวมทั้งเป็นการวางกลยุทธ์ระยะยาวทางการเงินของลูกค้า เพื่อช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรงเพื่ออนาคตทางการเงินที่มั่นคง ขั้นตอนที่แตกต่างกัน 6 ข้อในการวางแผนทางการเงินที่สมบูรณ์แบบได้แก่
1. สร้างสัมพันธภาพระหว่างลูกค้ากับนักวางแผนการเงิน
เป็นเรื่องของการสร้างสายสัมพันธ์กับลูกค้า เพื่อให้ได้ไว้ความไว้วางใจและเชื่อมั่น ต้องปฏิบัตต่อลูกค้าอย่างซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ที่สำคัญยิ่งคือ ทำให้ลูกค้ารู้สึกมั่นใจ และสบายใจในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการวางแผนการเงิน
2. การรวบรวมข้อมูลลูกค้า และการตั้งเป้าหมายทางการเงิน
เป็นการหาเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทางการเงินของลูกค้า ซึ่งโดยธรรมชาติจะมีหลายข้อ และเป็นความลับส่วนตัว ซึ่งอาจรวมถึงการเตรียมเงินสำหรับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของลูก การดูแลพ่อแม่สูงอายุ หรือการเตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน และการเตรียมเงินเพื่อเกษียณอายุ หน้าที่ของนักวางแผนการเงิน คือ การได้ข้อมูลจากลูกค้าอย่างเหมาะสม ถูกต้อง และสมบูรณ์ ทั้งยังต้องเป็นข้อมูลที่ทันสมัยด้วย โดยทั่วไปข้อมูลแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ประเภทแรก เชิงปริมาณ หรือวัตถุวิสัย ได้แก่ รายการทรัพย์สิน หนี้สิน กรมธรรม์ประกัน พินัยกรรมหรือเอกสารก่อตั้งทรัสต์ รายละเอียดส่วนตัว และครอบครัว เงินฝากออมทรัพย์ และครอบครัว การลงทุน รายละเอียดภาษีเงินได้ ประเภทที่สอง ข้อมูลเชิงคุณภาพหรืออัตวิสัย ได้แก่ความหวัง และความฝัน นิสัยการยอมรับความเสี่ยง ความชอบ ไม่ชอบ ความคาดหวัง ทัศนคติต่อการมีทรัพย์สิน ความกลัว ความเชื่อทางศาสนา
3. วิเคราะห์ และประเมินข้อมูล
เมื่อรวบรวมได้แล้ว จะวิเคราะห์เพื่อหาจุดแข็งและจุดอ่อนของลูกค้า ดูว่าลูกค้าอยู่ห่างเป้าหมายเพียงใด ระบุปัญหาทางการเงินต่าง ๆ เช่น มีประกันมาก-น้อยเกินไป ภาระภาษีก้อนใหญ่ กระแสเงินสดไม่พอ การลงทุนโตไม่ทันค่าเงินเฟ้อ รวมถึงประเมินฐานะปัจจุบันของลูกค้าในส่วนที่เกี่ยวพันกับกฎหมาย เช่นเรื่องภาษี หรือกฎหมายมรดก
4. เขียนแผนปฏิบัติการ
จัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับความจริง เพื่อนำไปสู่การเริ่มปฏิบัติ ต้องแสดงจุดอ่อนจุดแข็งที่เป็นปัจจุบันของลูกค้า โดยมีลักษณะที่สำคัญดังต่อไปนี้
- ออกแบบเฉพาะตามพื้นฐานสถานการณ์จริงของลูกค้าแต่ละราย เพื่อสนองความจำเป็น และความปรารถนาของเขา
- ตีแผ่ขุดแข็ง และจุดอ่อนของกลยุทธ์ทุกข้ออย่างชัดเจน
- จะต้องเป็นแผนที่สอดคล้องกับความเป็นจริง และปฏิบัติได้ตามกำลังเงินของลูกค้า
- ในการปฏิบัติตามแผนที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย จะต้องระบุฐานะ และหน้าที่ของทุกฝ่ายอย่างชัดเจนมีทางเลือกหลาย ๆ ทางให้ลูกค้าเลือกปฏิบัติได้
เมื่อร่างแผนแล้ว นักวางแผนการเงินต้องไปอภิปรายกับลูกค้า ให้ลูกค้ายอมรับก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติ โดยต้องมีวิธีการเสนอที่ดี มีภาพประกอบ ตาราง และแผนภูมิที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ก่อนที่จะให้ลูกค้ายอมรับ และทำตามแผน ต้องมั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจอย่างกระจ่าง เพราะการทำตามแผนอาจต้องมีการจัดสรร และใช้จ่ายเงินทุน
5. เริ่มทำตามแผนปฏิบัติการ
แผนการเงินจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อคำแนะนำ ได้รับการปฏิบัติ โดยการอนุมัติของลูกค้า และเงินทุนที่จำเป็นในกระบวนการปฏิบัติตามแผน นักวางแผนการเงินจะเริ่มทำตามแผนได้แล้ว ในกรณีที่แผนนั้นมีรายละเอียดมากขั้นตอนนี้อาจต้องร่วมมือกับนักวิชาชีพอื่น เช่น ทนายความ ตัวแทนประกัน ผู้เขียนพินัยกรรม ผู้ขายหน่วยลงทุน ที่ปรึกษาด้านภาษี ฯลฯ เพื่อช่วยทำงานหลายด้านที่กำหนดในแผน
พึงระลึกว่าการกระตุ้น และช่วยเหลือลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญแต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเริ่มทำแผน การปรับเปลี่ยน หรือการปฏิเสธคำแนะนำที่แสดงไว้ในแผนการเงิน ยังคงเป็นของลูกค้าอย่างสิ้นเชิง
6. ทบทวน และแก้ไขแผนการเงินเป็นระยะ
แผนการเงินจะดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับฐานข้อมูล ณ เวลาที่ทำแผนนั้น การทบทวนและแก้ไขแผนการเงิน เมื่อจำเป็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อรวมเอาความเปลี่ยนแปลงทั้งเงื่อนไขส่วนตัว และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ นักวางแผนการเงินควรตรวจสอบความเหมาะสม และประสิทธิผลของเทคนิคที่ใช้ รายงานผลจากการลงทุน และการเปลี่ยนแปลงทางกฏหมาย ฯลฯ
” อาจารย์ สุทิน สุขเกษม “