โดย นายไกรลาภ เนียวกุล
มาตรา ๘๗๗ ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(๑) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(๒) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย
(๓) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และในเวลาซึ่งเหตุวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้น ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้
มาตรานี้ เป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทน กล่าวคือ กฎtหมายกำหนดว่าค่าสินไหมทดแทนนั้นจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ในที่นี้ได้แก่
1. ค่าสินไหมทดแทนต่อตัววัตถุที่เอาประกันภัย ซึ่งเป็นไปตาม (1) และ (2)
2. ค่าใช้จ่ายในการรักษาหรือป้องกันทรัพย์สินไม่ให้วินาศ (3)
อย่างไรก็ตาม ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ตามข้อ 1 และ 2 ข้างต้น เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินไปกว่า จำนวนเงินที่รับประกันภัยไว้ (มาตรา 877 วรรคท้าย)
มาตรา 877 (1)
ตามอนุมาตรานี้ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้ว ว่า ผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งเป็นบททั่วไปที่ปฏิบัติกันอยู่ เว้นเสียแต่ว่า ผู้รับประกันภัยภัย จะยินยอมชดใช้ให้มากกว่าความเสียหายที่แท้จริง เช่น มีการตกลงมูลค่าทรัพย์สินที่รับประกันภัยและมูลค่าความเสียหายไว้ในข้อสัญญา ซึ่งเรียกว่า AGREED VALUE เช่น ทรัพย์สินมีมูลค่า 10,000.00 บาท ผู้รับประกันภัย อาจตกลงรับประกันภัยและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไว้ที่ 11,000.00 บาท ซึ่งหากเป็นความเสียหายที่แท้จริงนั้น อาจมีมูลค่าน้อยกว่า 10,000.00 บาท เนื่องจากต้องหักค่าเสื่อม
อนึ่ง อันที่จริง ตามอนุมาตรานี้ ครอบคลุมไปถึง อนุมาตรา ( 3 ) ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าจะต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันสมควรหรือสมเหตุผลด้วยซึ่งจะกล่าวต่อไป
มาตรา 877 (2)
ตามอนุมาตรานี้ เป็นเรื่องความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเป็นการเฉพาะ และจะต้องประกอบไปด้วย
ก. ต้องมีภัยที่เกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งภัย
ข. ภัยแรกที่เกิดขึ้นจะต้อง เป็นภัยที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
ค. ภัยต่อไปอาจเป็นภัยที่ได้รับความคุ้มครองหรืออยู่ในข้อยกเว้นก็ได้ รวมทั้งอาจเป็นภัยที่ไม่ได้อยู่ทั้งในความคุ้มครองหรือข้อยกเว้น แต่กรณีนี้จะต้อง เป็นภัยที่ต่อเนื่องที่สามารถคาดหมายได้ว่า มาจากภัยแรกด้วย ซึ่งเป็นไปตาม หลักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ตามทฤษฎีความเหมาะสมแห่งเหตุ (Theory of adequate Cause)
ง. ภัยแรกไม่ได้ก่อความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย แต่เป็นภัยอื่นที่ตามมาและคาดหมายได้ (Foreseeability) เป็นตัวก่อความเสียหาย เช่นนี้ก็ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากภัยแรกที่กรมธรรม์ให้ความคุ้มครอง เพราะหากไม่มีภัยแรก ภัยอื่นที่ตามมานั้นก็จะไม่เกิดขึ้น (Condition Theory – But-for Test)
ตัวอย่าง เช่น นายดำเอาประกันอัคคีภัย เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านไว้ ตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ต่อมาเกิดเพลิงไหม้ บ้าน นายดำจึงได้ ยกตู้เย็นออกมาวางไว้หน้าบ้าน ตู้เย็นเกิดล้มได้รับความเสียหาย หรือ ตู้เย็นถูกขโมยไป จะเห็นว่า
– ภัยแรกคือ อัคคีภัย ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
– ภัยต่อมาคือ ความประมาทเลินเล่อของนายดำที่วางตู้เย็นไม่ดี หรือ การลักทรัพย์เป็นภัยต่อมา ซึ่งไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองหรือข้อยกเว้นในกรมธรม์ประกันอัคคีภัย
จะเห็นว่า กรณีนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ ย่อมมีสาเหตุมาจากอัคคีภัย เพราะ หากไม่เกิดอัคคีภัย นายดำก็ไม่ต้องยกตู้เย็นออกตั้งอยู่นอกบ้านแล้วตั้งไม่ดีทำให้ตู้เย็นล้มได้รับความเสียหาย หรือ ไปตั้งไว้ทำให้ถูกขโมยไป (กรณีถูกขโมยหรือลักทรัพย์นี้ ในสถานการณ์เช่นนี้ย่อมคาดหมายได้ว่าอาจมีคนมาลักทรัพย์ได้ จึงไม่ไกลกว่าเหตุ เพราะหากไกลว่าเหตุ (Remoteness) ย่อมเป็นเรื่องการคาดไม่ถึง (Unforeseeability) ซึ่งจะทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้น จะต้องนับเอาเหตุลักทรัพย์เป็นเหตุหรือภัยแรก เพราะ คาดหมายไม่ได้หรือไกลว่าเหตุนี้ ย่อมตัดความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลในเบื้องแรกออกไป (Cutting the chain of causation)
อนึ่ง หากมีค่าใช้จ่ายในการขนย้ายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกมาจากสถานที่เอาประกันภัย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จะเป็นเรื่องของมาตรา 877 (3) ซึ่งผู้รับประกันภัยต้องชดใช้เช่นเดียวกัน แม้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจะได้รับความเสียหายหรือสูญหายไป แต่สามารถ Recovery เอาคืนจากผู้ก่อความเสียหายได้ ตามมาตรา 880 ซึ่งจะไม่กล่าวในที่นี้
หมายเหตุ ตาม (2) นี้ กฎหมายมีเจตนารมณ์ที่ให้ผู้รับประกันภัย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วย เนื่องจาก โดยหลักการ หากผู้เอาประกันภัยไม่กระทำการเช่นว่านั้นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยก็จะต้องได้รับความเสียหาย (ถูกเพลิงไหม้) อยู่ดี (แม้ตามข้อเท็จจริง บางกรณีอาจไม่ถูกเพลิงไหม้ก็ตาม)
มาตรา 877 (3)
อนุมาตรานี้ เป็นเรื่อง
1. หน้าที่ป้องกันทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
2. เป็นความเสียหายทางการเงิน ของผู้เอาประกันภัยโดยแท้จริง (Financial Loss)
3. ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ไม่ว่าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจะได้รับความเสียหายหรือไม่ก็ตาม
4. แต่ต้องพิจารณาตาม หลักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล ด้วยว่า หากไม่มีการป้องทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นแล้ว ภัยหรือสาเหตุของความเสียหายที่ได้รับความคุ้มครองจะต้องก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยด้วย
5. ต้องเป็นค่าใช้จ่ายอันสมควรด้วย เช่น เห็นน้ำจะท่วม เลยก่อกำแพงขึ้นอย่างแข็งแรง กำแพงดังกล่าวสามารถใช้ได้ต่อไปในอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องไว้ใช้ป้องกันน้ำท่วมเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ สามารถใช้ป้องกันสถานที่ของผู้เอาประกันภัยจากภัยอื่นๆ เช่น การโจรกรรม เป็นต้น เช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ค่าใช้จ่ายอันสมเหตุผลสำหรับภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผู้รับประกันภัยอาจพิจารณาชดใช้ให้ ตามสมควรเช่น 50% หรือ 80% แล้วแต่กรณี แต่ไม่ควรต่ำกว่า 50% เพราะหากผู้เอาประกันภัยไม่กระทำการเช่นนั้น ผู้รับประกันภัยอาจต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากกว่าที่ไม่ได้ทำกำแพงไปก็ได้
6. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอาจแบ่งออกเป็น 2 กรณี
6.1 ค่าขนย้ายทรัพย์ไปไว้ที่อื่นที่ปลอดภัยกว่า
6.2 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าทำเขื่อนกันน้ำกรณีน้ำท่วม
7. การป้องกัน อาจเป็นการป้องกันมาเป็นเวลาพอสมควรก่อนภัยจะมาถึงก็ได้ แต่สุดท้ายภัยต้องมาถึงด้วย หากมาไม่ถึง ไม่อาจเรียกร้องได้ เช่น กรณีน้ำท่วม ผู้เอาประกันภัย อาจทำเขื่อนป้องกันไว้ก่อน อีก 1 เดือน มวลน้ำมาถึงสถานที่เอาประกันภัยก็ได้ เนื่องจาก หากทำขณะที่น้ำกำลังจะท่วม ย่อมไม่สามารถทำการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. ตัวอย่าง เหตุการณ์ในการป้องกันทรัพย์ ยกตัวอย่างเฉพาะ กรณีน้ำท่วม
นายดำเอาประกันภัย บ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน คุ้มครองกรณีน้ำท่วม ต่อมาเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างและเข้าใกล้บ้านของนายดำ นายดำได้ทำเขื่อนป้องกันน้ำท่วม โดยใช้กระสอบทราย หรือ ใช้อิฐบล็อกฉาบปูน สูง 1 เมตร หรือ กรณี นายดำได้เสียค่าขนย้ายทรัพย์ไปไว้ในที่ปลอดภัย เสียค่าขนย้ายไปเป็นเงิน 10,000.00 บาท
8.1 กรณีเรียกร้องไม่ได้
8.1.1 มวลน้ำมาไม่ถึงสถานที่เอาประกันภัย
8.1.2 มวลน้ำมาถึงสถานที่เอาประกันภัย แต่หากไม่ทำเขื่อนกันน้ำไว้ น้ำก็ไม่ได้ทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เช่น น้ำสูงเท่าฟุตปาท หน้าบ้านนายดำและไม่ได้เข้าไปในบ้านนายดำ
8.2 กรณีเรียกร้องได้
8.2.1 มวลน้ำมาถึงบ้านนายดำ สูง 99 เซ็นติเมตร น้ำเข้าบ้านนายดำไม่ได้เพราะ มีเขื่อนกั้นอยู่
8.2.2 มวลน้ำมาถึงบ้านนายดำ สูง 130 เซ็นติเมตร น้ำเข้าบ้านนายดำ 30 เซ็นติเมตร ทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเสียหายเล็กน้อย หากไม่กั้นเขื่อนไว้ น้ำจะทำความเสียหายให้เป็นจำนวนมากกว่าที่กั้นเขื่อนไว้ (หากน้ำไปทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว มีการสูบน้ำออก เป็นเรื่องการบรรเทาความเสียหาย หากยังไม่ก่อความเสียหายก็เป็นการป้องกันความเสียหาย)
8.2.3 มวลน้ำมาถึงบ้านนายดำ มวลน้ำทำลายเขื่อนพัง น้ำเข้าไปในบ้านของนายดำ ทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
หมายเหตุ
ตาม 8.2.2 และ 8.2.3 มีบางท่านอาจมองว่า เมื่อกฎหมายบัญญัติว่า “เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ” แต่ป้องกันแล้วทรัพย์สินที่เอาประกันภัยยังวินาศ หรือเสียหาย เช่นนี้ ก็ไม่ควรจะไปจ่ายในส่วนค่าป้องกันให้ เพราะป้องกันไม่ได้
ตรงนี้เห็นว่า หน้าที่ป้องกันทรัพย์นั้น เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย แม้ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมายก็ตาม รวมทั้งเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้เป็นเจ้าของหรือมีส่วนได้เสียในฐานะผู้มีสิทธิครอบครอง ต้องกระทำหน้าที่ของตนในการป้องกันทรัพย์ไม่ให้เสียหายอยู่แล้วแม้ไม่มีการประกันภัยไว้
แต่พึงสังเกตว่า เจตนารมณ์ของอนุมาตรานี้ มีไว้เพื่อ ให้ผู้รับประกันภัยเข้ามาแบ่งเบาภาระของผู้เอาประกันภัย เพราะเขาได้เสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหาย เพื่อไม่ให้ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก จะปล่อยให้เป็นภาระแก่ผู้เอาประกันภัยไม่ได้ เพราะผู้รับประกันภัย ก็สัญญาว่าจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ตนรับไว้อยู่แล้วตลอดระยะเวลาที่รับประกันภัย
พิจารณาในทางกลับกัน หากผู้เอาประกันภัยเพิกเฉย ไม่ทำอะไรเลย ผู้รับประกันภัยจะยกเอาเรื่องความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมาปฏิเสธค่าสินไหมทดแทนหรือไม่
นอกจากนั้น ผู้เอาประกันภัยเขาก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ของเขาด้วยความสุจริต ผู้รับประกันภัยจะไปโทษหรือตำหนิเขาว่าป้องกันไม่ได้ เลยไม่ชดใช้เห็นว่าน่าจะไม่ได้ เช่นเดียวกันหากเขากั้นกำแพงอย่างดีเยี่ยม น้ำไม่สามารถเข้าไปได้เลย ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ให้เต็มจำนวนหรือไม่ เพราะเขาทำกำแพงดีเกินจำเป็น เช่น ทรัพย์สินที่ทำประกันภัยมีมูลค่า 100,000,000.00 บาท ผู้เอาประกันภัย สร้างกำแพงอย่างดีน้ำเข้าไปทำความเสียหายไม่ได้เลย โดยเสียค่าทำกำแพง 50,000,000.00 บาท และกำแพงนั้นสามารถใช้ได้ตลอดไปอีกหลายปี เป็นต้น
ในกรณีปัญหาข้อนี้ จะเห็นว่า
ก. ตาม 8.2.2 นั้น จะเห็นได้ชัดว่า ผู้เอาประกันภัยสามารถลดค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ให้เขาได้เป็นจำนวนมาก
ข. เป็นเรื่องยากที่จะตำหนิผู้เอาประกันภัย เพราะไม่มีใครสามารถบอกได้ว่ามวลน้ำจะมาอยู่บริเวณนั้นเป็นจำนวนเท่าใด นานเท่าใด แรงดันน้ำที่มาจะมีปริมาณเท่าใด
ค. การป้องกันเช่นนั้น ก็เป็นเพียงการป้องกันชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องการป้องกันถาวร
ง. การอธิบายเหตุผล ไม่สามารถแยกการอธิบายเหตุการณ์เดียวกัน ออกเป็น 2 กรณี ได้ กล่าวคือ ตาม ข้อ 8.2.2 กับ 8.2.3 เป็นเหตุการณ์อย่างเดียวกัน กล่าวคือ มีความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ผู้เอาประกันภัย ไม่สามารถป้องกันความเสียหายได้เหมือนกัน จะอธิบายว่า หาก ข้อเท็จจริง ตาม 8.2.2 ชดใช้ แต่แบบ 8.2.3 ไม่ชดใช้ ก็ดูจะขัดกันอยู่ เพราะไม่มีกฎหมายหรือข้อสัญญากำหนดไว้ (ในเรื่องนี้ สิ่งที่ต่างกัน ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่อง จำนวนค่าสินไหมทดแทน ที่ต่างกัน เท่านั้น)
จ. สรุปจึงเห็นว่า เมื่อทำการป้องกัน แล้ว ย่อมเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้ แม้ผลสุดท้าย จะป้องกันความเสียหายไม่ได้ก็ตาม
ฉ. ค่าบรรเทาความเสียหาย ไม่ใช่ค่าป้องกันทรัพย์ เพราะ
1. การป้องกันทรัพย์ เป็นกรณีที่ภัยใกล้จะถึงตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ส่วน
2. การบรรเทาความเสียหาย เป็นเรื่องที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากภัยที่ได้รับความคุ้มครองแล้ว ค่าบรรเทาความเสียหายผู้รับประกันภัยยังต้องชดใช้ให้แก่ผู้เอาประกันภัยด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีกฎหมายบัญญติไว้เป็นการเฉพาะ ต้องใช้หลักกฎหมายเทียบเคียง ซึ่งมาตราที่นำมาใช้คือ มาตรา 223 วรรคสอง
ค่าบรรเทาความเสียหายนี้เห็นว่า ต้องไม่จ่ายเกินจำนวนเงินเอาประกันภัย หรือต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพ์สินที่เอาประกันภัยในแต่ละรายการด้วย เช่น เครื่องจักร มูลค่า 1,000,000.00 บาท ได้รับความเสียหาย 500,000.00 บาท และอาจมีความเสียหายเพิ่มขึ้น หากไม่บรรเทาความเสียหาย ผู้เอาประกันภัยบรรเทาความเสียหายเสียค่าใช้จ่าย 100,000.00 บาท ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าบรรเทาความเสียหาย 100,000.00 บาท นอกจากค่าซ่อมแซมเครื่องจักร แต่หาก ค่าบรรเท่าความเสียหาย 600,000.00 บาท เช่นนี้ ผู้รับประกันภัยควรต้องชดใช้ให้เต็มมูลค่าของเครื่องจักร เพียง 1,000,000.00 บาท เท่านั้น
โปรดติดตาม ตอน2
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เท่านั้น สถาบันฯ ไม่รับผิดชอบในความถูกต้องของข้อเขียนชิ้นนี้