การประกันภัยอิสรภาพ เป็นการประกันภัยที่จัดขึ้นโดยมีแนวความคิดมาจากการที่ศาลยุติธรรมจะจัดระบบการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถใช้หนังสือรับรองความรับผิดของบริษัทประกันภัยเป็นหลักประกันมาวางศาลได้
ศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการประกันภัย และสมาคมประกันวินาศภัย จึงได้ร่วมกันจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพขึ้น เมื่อประชาชนได้ซื้อประกันภัยอิสรภาพแล้ว บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองให้ผู้เอาประกันภัยถือไว้ หากผู้เอาประกันภัยได้ทำความผิดและตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างระยะเวลาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะได้รับความสะดวกอย่างยิ่งจากการที่สามารถใช้หนังสือรับรองนี้ ยื่นแก่เจ้าพนักงานเพื่อใช้ในการประกันตัว โดยไม่ต้องหาหลักทรัพย์อื่นใดมาวางเป็นหลักประกัน
รูปแบบการประกันภัยอิสรภาพ การทำประกันภัยอิสรภาพมี 2 รูปแบบคือ
แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด (ใช้กับบุคคลทั่วไป)
ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในฐานความผิดอันเนื่องมาจากการกระทำโดยประมาท
บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยพร้อมกับกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอประกันตัวต่อเจ้าพนักงาน และหากผู้เอาประกันภัยได้ใช้หนังสือรับรองเพื่อประกันตัวไปแล้ว แต่ยังไม่เต็มวงเงินที่ระบุไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย ผู้เอาประกันภัยสามารถขอหนังสือรับรองฉบับใหม่ ซึ่งมีวงเงินประกันตัวเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันภัยที่คงเหลืออยู่จากบริษัทประกันภัยได้
แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด (ใช้กับผู้ตกเป็นผู้ต้องหา หรือ จำเลย)
ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันภัยถูกดำเนินคดีและถูกควบคุมตัวในคดีอาญาในทุกลักษณะฐานความผิด บริษัทประกันภัยจะออกหนังสือรับรองตามจำนวนเงินเอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย เพื่อนำไปใช้เป็นหลักประกันในการขอประกันตัวต่อเจ้าพนักงานตามคดีที่ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย
ผู้สามารถซื้อประกันภัย
1. กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด ผู้สามารถซื้อประกันภัย คือ บุคคลทั่วไป เช่น ครู ทนายความ นักบัญชี พยาบาล แม่บ้าน พนักงานขับรถ เป็นต้น
2. กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด ผู้สามารถซื้อประกันภัย คือ ผู้ตกเป็นผู้ต้องหา
หรือจำเลย
ระยะเวลาความคุ้มครอง
แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด
– ตามที่ระบุในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย หรือ
– จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด
– นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือ
– นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา หรือ
– นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนศาลฎีกามีคำพิพากษา หรือ
– นับแต่เวลาที่ได้เริ่มประกันตัวจนคดีถึงที่สุด
เบี้ยประกันภัย
แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด
อัตราเบี้ยประกันภัย ขั้นต่ำ 0.5% ขั้นสูง 1% ตัวอย่างเช่น จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัยอยู่ระหว่าง 500 – 1,000 บาท
แบบที่ 2 กรมธรรมประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด
เบี้ยประกันภัยแบ่งตามชั้นศาลที่มีคำพิพากษาและฐานความผิด อัตราเบี้ยประกันภัยขั้นต่ำ 5% ขั้นสูง 20% ตัวอย่างเช่น จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกัน ภัยอยู่ ระหว่าง 5,000 – 20,000 บาท
ส่วนลดเบี้ยประกันภัย
– หากผู้เอาประกันภัยมีบุคคลค้ำประกันต่อบริษัท จะได้รับส่วนลด 10% ของเบี้ยประกันภัย
– หากผู้เอาประกันภัยมีหลักทรัพย์มาวางประกันร่วม จะได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยลดลงตามสัด
ส่วนราคาหลักประกัน
การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย
ทั้งฝ่ายผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยไม่สามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในระหว่างระยะ
เวลาประกันภัย
การคืนเบี้ยประกันภัย
บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในกรณี ดังนี้
แบบที่ 1 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพก่อนกระทำความผิด
– เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต ในระหว่าง ระยะเวลาประกันภัยไม่มีการเรียกร้องให้ประกันตัว บริษัท
ประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามอัตราเบี้ยประกันภัยระยะสั้นที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย
แบบที่ 2 กรมธรรม์ประกันภัยอิสรภาพหลังกระทำความผิด
– เมื่อผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในระหว่างระยะเวลาประกันภัย โดยไม่ผิดสัญญาประกันตัว บริษัท
ประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยครึ่งหนึ่งให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัย หรือ
– เมื่อเจ้าพนักงานไม่อนุญาตให้ประกันตัว บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้เต็มจำนวนโดย
หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ 500 บาท หรือ
– เมื่อเจ้าพนักงานอนุญาตให้ประกันตัว แต่ภายหลังมีคำสั่งถอนหรือยกเลิกการให้ประกันตัว หรือ
ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องการที่จะประกันตัวอีกต่อไป บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ร้อยละ
20
– ผู้เอาประกันภัยไม่ผิดสัญญาประกันตัวจนสิ้นสุดระยะเวลาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ย
ประกันภัยให้ร้อยละ 20
ที่มา : เว็บไซต์ของกรมการประกันภัย http://www.doi.go.th
ปรับปรุงวันที่ 08-พ.ค.-2553