แผนการเงิน คือกลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทางการเงินของลูกค้า แผนการเงินสมบูรณ์แบบ ควรแสดงถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเงินของลูกค้าทุกด้าน ต่างจากแผนการเงินธรรมดา ที่เจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และแม้ว่าลูกค้าอาจไม่ต้องการแผนการเงินสมบูรณ์แบบไปเสียทุกคน แต่นักวางแผนการเงินทุกคนควรต้องรู้วิธีทำแผนสมบูรณ์แบบ
รายงานแผนการเงินไม่เพียงแต่ระบุกลยุทธ์ของแผนเท่านั้น แต่แสดงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องในการวางแผนนั้นด้วย รูปแบบ และลำดับเรื่องในการนำเสนออาจแตกต่างกันไป แต่รายการแผนการเงินจะมีหัวข้อสำคัญ 13 ข้อ ซึ่งครอบคลุมทุกด้านตามสถานการณ์ส่วนบุคคลของลูกค้า ดังนี้
ข้อมูลส่วนตัว รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องของบุคคล และครอบครัว ทั้งหมดที่แผนนี้ครอบคลุมถึง
เป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทางการเงินของลุกค้า รวมทั้งลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมาย และกรอบเวลาที่ต้องบรรลุ
ระบุประเด็นที่ต้องวางแผน และปัญหา รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ภาษี โรคร้ายแรง และปัจจัยอื่นๆ ที่แจเป็นปัญหา ซึ่งอาจจะระบุโดยนักวางแผน หรือตัวลูกค้าเอง หรือที่ปรึกษาคนอื่นๆ นักวางแผนควรพยายามที่จะระบุประเด็น และปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่ด้วย
สมมติฐานที่ในการจัดเตรียมแผนการเงิน เช่น อัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของการลงทุน อัตรามรณะ และสมมติฐานอื่นๆ
งบดุล/มูลค่าสุทธิ (Balance sheet/Net worth) การวิเคราะห์ซึ่งรวมถึงรายการทรัพย์สิน และหนี้สิน พร้อมกับการคำนวณหามูลค่าสุทธิ ทั้งนี้อาจระบุรายละเอียดของทรัพย์สิน และหนี้สินนั้นๆ เท่าที่จำเป็น
การจัดการกระแสเงินสด (Cash flow) รายงาน และการวิเคราะห์ที่รวมถึง แหล่งรายได้ และวิธีใช้จ่ายเงินเป็นรายปี ชี้ให้เห็นเงินสดหมุนเวียนสุทธิ โดยแยกบัญชีรายรับอย่างชัดเจน
การทบทวนภาษีเงินได้ รายงาน และการวิเคราะห์ภาษีเงินได้ทุกปีที่เกี่ยวข้องกับแผนนี้ โดยแสดงให้เห็นรายได้ และค่าลดหย่อนที่จะนำมาคำนวณภาระภาษีของลูกค้า การวิเคราะห์ควรแสดงให้เห็นเกณฑ์ภาษีในอัตราก้าวหน้าทุกปี และสถานการณ์พิเศษ เช่น ทางเลือกที่จะประหยัดภาษี ข้อจำกัดที่ทำให้เสียเปรียบทางภาษี และ ฯลฯ ที่มีผลต่อภาระภาษีของลูกค้า
การจัดการความเสี่ยง/การประกัน รายงาน และการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเงินของลูกค้า อันเนื่องมาจากอัตรามรณะ อัตราการเจ็บป่วย การรับผิด และอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงธุรกิจของลูกค้า ในส่วนนี้จะแสดงรายการกรมธรรม์ที่มีอยู่ และการวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงการประกันชีวิต ประกันทุพพลภาพ ค่ารักษาพยาบาล การประกันภัยทรัพย์สิน และอุบัติเหตุ การประกันความรับผิด และการประกันธุรกิจ
การลงทุน รายการแสดงบัญชีการลงทุนของลูกค้า และการวิเคราะห์ที่กล่าวถึงสภาพคล่อง การกระจายการลงทุน (Diversification) และความเสี่ยงในการลงทุน นอกจากนั้น จะต้องแสดงถึงความเหมาะสมในการ ลงทุนว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของลุกค้าหรือไม่ รวมถึงลักษณะนิสัยในการรับความเสี่ยง (Risk Tolerance) การจัดการความเสี่ยงในการลงทุนความเหมาะสม สภาพคล่อง การกระจายการลงทุน และการจัดการส่วนบุคคล
ความต้องการพิเศษ เช่นการวางแผนเกษียณอายุ แผนกองทุนการศึกษา เป็นการวิเคราะห์ถึงเงินทุนที่จำเป็นเพื่อสนองความต้องการเฉพาะด้านของลุกค้าในอนาคต ซึ่งควรจะคาดการณ์แหล่งเงินที่จะตอบสนองความต้องการนั้นเมื่อถึงเวลา
การวางแผนมรดก เพื่อระบุทรัพย์สินที่รวมอยู่ในกองมรดกของลูกค้า วิเคราะห์ถึงการควบคุม การจัดสรร และภาษีของทรัพย์มรดกนั้นๆ
คำแนะนำ (Recommendations) เป็นลายลักษณ์อักษรระบุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของลูกค้าระบุประเด็น และปัญหาทั้งหมดในแผน รวมถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดอยู่
กำหนดการทำตามแผน เพื่อจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำให้เป็นไปตามคำแนะนำ กำหนดผู้รับผิดชอบฝ่ายต่างๆ สิ่งที่ต้องทำและกำหนดเวลา
เรื่องใดในแผนการเงิน ที่นักวางแผนไม่มีความเชี่ยวชาญ เขามีหน้าที่จะต้องขอความร่วมมือจากนักวิชาชีพอื่นๆ และทำเอกสารประกอบการรายงานไว้ในแผนการเงินด้วย เอกสารดังกล่าวควรระบุชื่อของนักวิชาชีพนั้นๆ เพื่อให้รายงานมีความสมบูรณ์ การวิเคราะห์ที่ยกเอาองค์ประกอบของแผนทั้งหมด ควรประกอบด้วยการทบทวนข้อมูลที่สำคัญ การพิจารณาข้อดีข้อเสียในสถานการณ์นั้น และกำหนดว่าจะต้องทำอะไรอีกบ้าง (ถ้ามี) ในแผนควรมีรายงานสรุป (Summary statement) แสดงความเห็นของนักวางแผนในการวิเคราะห์ และให้คำแนะนำ สำหรับทุกส่วนในแผนการเงิน
ฉบับหน้าพบกับรายงานการเงินส่วนบุคคล และขั้นตอนการทำงบประมาณ
” อาจารย์ สุทิน สุขเกษม “