Search
Close this search box.

การเปลี่ยนแปลงในระบบการเงินโลก: ความท้าทายของ SWIFT และการเกิดขึ้นของทางเลือกใหม่อย่าง SPFS, CIPS, และ BRICS Pay

วันก่อนผมได้พูดถึง Secondary Economic Sanction และเกริ่นถึงผลกระทบที่จะมีต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศไปบ้างนิดหน่อย วันนี้ผมจะพูดถึงระบบนี้ให้มากขึ้นครับ

การเพิ่มระดับการคว่ำบาตรทางการเงินต่อรัสเซียมีผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะต่อระบบ SWIFT ที่เป็นพื้นฐานในการทำธุรกรรมการเงินข้ามชาติในระดับโลก การมีการคว่ำบาตรทางการเงินจากประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปไปยังรัสเซียได้ทำให้รัสเซียต้องพัฒนาระบบการโอนเงินของตนเองที่เรียกว่า “Financial Messaging System of the Bank of Russia” (SPFS) เพื่อทดแทนหรือเสริมเครือข่ายการทำธุรกรรมการเงินที่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรใน SWIFT โดยเฉพาะ SPFS เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศสำหรับรัสเซียและประเทศที่คล้ายกันทางการเงิน เช่น ตุรกีและอิหร่าน การพัฒนาระบบนี้เป็นการตอบสนองต่อความต้องการในการลดความพึ่งพาต่อระบบการทำธุรกรรมการเงินที่อาจถูกคว่ำบาตรได้ในอนาคต นอกจากนี้ รัสเซียยังเชื่อมโยง SPFS กับระบบการชำระเงินของประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมเครือข่ายการเงินของตนอย่างที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม CIPS ของจีน (Cross-Border Interbank Payment System) ก็เป็นตัวเลือกอีกหนึ่งทางที่มีความสำคัญในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่ผ่านเข้าสู่ระบบทางการเงินโดยไม่ต้องผ่านระบบ SWIFT โดย CIPS ได้รับความสนับสนุนและใช้งานอย่างกว้างขวางในชุดประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบ CIPS นี้สะท้อนถึงความพยายามของจีนในการเสริมสร้างอำนาจทางการเงินและความเชื่อถือในระบบการชำระเงินของตนเอง

ในทางกลับกัน การพัฒนาระบบ BRICS Pay และความร่วมมือในกลุ่ม BRICS ในด้านการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศเป็นการตอบสนองต่อความกังวลในการพึ่งพาเงินสกุลดอลลาร์อย่างเดิมๆ ซึ่งนำมาซึ่งการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล ในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่มีภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือมากขึ้น ดังนั้น การเพิ่มระดับการคว่ำบาตรทางการเงินนั้นมีผลกระทบที่สำคัญต่อระบบการเงินระหว่างประเทศและการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีอิสระอย่าง SPFS และ CIPS เพื่อลดความพึ่งพาต่อระบบที่อาจถูกคว่ำบาตรในอนาคต

จริงอยู่แม้ว่าทาง G7 จะไม่ได้เอ่ยปากออกมาโดยตรงถึงการตั้งข้อสงสัยต่อพฤติกรรมของประเทศจีน แต่ในหลายประเด็นก็ยังหนีไม่พ้นอยู่ดี เพราะ ประเทศจีนก็คือคู่ค้าสำคัญของรัสเซีย และ ยังมีกรณีพิพาททางการค้ากับทั้งทางประเทศสหรัฐฯ และ กลุ่มประเทศ NATO ด้วย จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องตั้งข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าว ซึ่งถ้ารัสเซียร่วมมือกับประเทศจีนแล้วอะไรจะเกิดขึ้น? เพราะการพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดนของทั้งสองประเทศก็ได้มีการเตรียมความพร้อมมานานพอสมควร อีกทั้งยังมีกลุ่มประเทศ อย่างเช่น BRICS เข้ามาร่วมวงด้วยก็น่าจะมีภาษีพอสมควรไม่มากก็น้อยครับ

การรวมตัวของกลุ่มประเทศ BRICS นั้น ถือว่าเป็นการท้าทายเงินสกุลดอลลาร์อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะไม่อาจเทียบกับกลุ่ม G7 ได้ก็ตาม แต่ในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติอันมีมากมาย และกำลังซื้อมหาศาล ก็ถือว่ามีนัยสำคัญอันไม่อาจจะมองข้ามได้ ในอนาคตครับ อย่างเช่น เมื่อเร็วๆนี้ จีนและซาอุดีอาระเบีย ร่วมลงนามการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในโครงการ mBridge ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มในการนำสกุลเงินดิจิทัลมาใช้ชำระเงินข้ามพรมแดน คาดว่าจีนจะใช้โครงการ ดังกล่าวเป็นตัวกลางชำระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบีย โดยมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่างๆทั่วโลกกว่า 26 คน รวมถึง IMF World Bank และ ECB ซึ่งมองว่าความร่วมมือดังกล่าวทำให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการรายที่ 6 ของ mBridge ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลดอิทธิพลของประเทศสหรัฐฯที่มีในตะวันออกกลาง ซึ่งผู้อำนวยการของสถาบัน Atlantic Council แสดงความเห็นว่า โครงการนี้มีความทันสมัย อย่างยิ่งและจะสามารถผลักดันเศรษฐกิจในกลุ่ม G20 ได้ดี และประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ร่วมพัฒนาการใช้สกุลเงินดิจิทัลในโครงการ mBridge นี้ด้วย (หากผมมีเวลาพอ ผมก็อยากจะเล่าเรื่องการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล อย่างเช่น Central Bank Digital Currency ในประเทศต่างๆ ให้ฟังเหมือนกันครับ)

นอกเหนือจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศที่ผมกล่าวข้างต้น ก็ยังระบบอื่นๆที่ได้รับการพัฒนาหรือเสนอในประเทศอื่นๆ เพื่อการชำระเงินในประเทศ หรือ เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินในสกุลเงินที่ไม่ใช่ USD ครับ นั่นคือ Structured Financial Messaging System (SFMS) ของประเทศอินเดีย ซึ่งระบบนี้ส่วนใหญ่สําหรับใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ก็มีศักยภาพในการขยายตัวเป็นการชำระเงินระหว่างประเทศได้เหมือนกันหากจำเป็น และ ความคิดริเริ่มของยุโรปเช่น INSTEX: ออกแบบมาเพื่ออํานวยความสะดวกการค้าที่ไม่ใช่ USD กับอิหร่านเพื่อหลีกเลี่ยงการคว่ำบาตรของประเทศสหรัฐฯ

ก่อนจะสรุปทั้งหมด ผมก็อยากจะพูดถึงระบบ SWIFT หรือมีชื่อเต็มว่า Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication คือระบบการสื่อสารของผู้ให้บริการสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศก่อตั้งขึ้นในปี 1973 จากความร่วมมือของธนาคาร 239 แห่งจาก 15 ประเทศทั่วโลกได้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขเรื่องปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างธนาคารในการส่งข้อความข้ามพรมแดน โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศเบลเยียม โดยเริ่มมีการใช้งานในการส่งข้อความระหว่างธนาคารครั้งแรกในปี 1997 ปัจจุบันระบบ SWIFT มีธนาคารและสถาบันที่เป็นสมาชิกกว่า 11,000 แห่งจาก 200 ประเทศทั่วโลกตั้งแต่ ธนาคาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ สถาบันนายหน้า ธุรกิจองค์กร นายหน้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ไปจนถึงหน่วยงานรัฐบาล

อย่างไรก็ตามแม้ว่าระบบเหล่านี้ที่พยายามจะเป็นตัวเลือกแทนที่ระบบ SWIFT ได้แสดงศักยภาพ แต่ยังไม่มีใครประสบความสําเร็จในการเข้าถึงทั่วโลก การพัฒนาระบบก็เป็นแค่ทางเลือกเหล่านี้ แต่ในส่วนลึกแล้วมันกลับสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่นำไปสู่การลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์อย่างเป็นรูปธรรม และ ความพยายามที่จะลดการพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ครอบงําโดยประเทศสหรัฐฯครับ เพราะประเทศเหล่านี้มีความวิตกถึงความไม่เป็นกลางและการใช้อำนาจที่ปราศจากกฎหมายรองรับของประเทศสหรัฐฯ และ กลุ่มประเทศ NATO มาบีบคันกันทางการเงิน และเศรษฐกิจอย่างเช่นที่ปฏิบัติต่อ อิหร่าน รัสเซีย และ จีน ครับ

กิตติ ปิณฑวิรุจน์​ / เขียนบทความ

แบ่งปันบทความนี้