โดย นายไกรลาภ เนียวกุล
ตอน ๒ ข้อสัญญาที่เกี่ยวข้อง
9.1 Sue & Labour Clause
ข้อสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาของ Marine Insurance และมีบัญญัติผลบังคับไว้ใน มาตรา 78 ของ UK Marine Insurance Act 1906 ในเรื่องนี้ ตาม Wordings และตาม กฎหมายดังกล่าวข้างต้น บัญญัติว่า “Expenses incurred for the purpose of AVERTING or DIMINISHING any loss…….”
จะเห็นว่า AVERT ก็คือ ป้องกัน หรือ การรักษาทรัพย์ที่เอาประกันภัยไม่ให้วินาศภัย ส่วน DIMINISH ก็คือ การบรรเทาความเสียหาย นั่นเอง
เท่ากับว่า Sue & Labour Clause เป็นเรื่องของ ทั้ง การป้องกันทรัพย์ไม่ให้วินาศภัย และ การบรรเทาความเสียหาย ซึ่งตรงกับหลักกฎหมายไทยใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 (3) และ มาตรา 223 วรรคสอง นั่นเอง
ดังนั้น การที่กรมธรรม์จะมี Clause นี้ ติดไปด้วยหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้อยู่ดี ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 877 (3) และ มาตรา 223 เว้นเสียแต่ว่า Clause นี้
- จะกำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดไว้ หรือ
- เป็นส่วนรับผิดชอบต่างหากจากจำนวนเอาประกันภัย กล่าวคือ แม้ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย ยังขอรับผิดชอบจำนวนค่าป้องกันหรือบรรเทาความเสียหายเพิ่มเติมอีกต่างหาก
แต่ปัญหาเกิดขึ้นคือว่า Sue & Labour Clause ที่นำมาใช้ใน Non-marine โดยเฉพาะที่แปลเป็นภาษาไทยกลับใช้ถ้อยคำที่เคลือบแคลงสังสัย เพราะเมื่ออ่านแล้ว กลายเป็นว่า เป็นแค่เรื่องการบรรเทาความเสียหายเท่านั้น แม้จะมีถ้อยคำว่า “….เพื่อกู้คืน ป้องกันหรือรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เพื่อลดความเสียหาย…..” อยู่ด้วยก็ตาม เนื่องจาก เอาเรื่องป้องกันความเสียหาย กับเรื่องบรรเทาความเสียหายไปเขียนปะปนกัน จนทำให้เรื่องการ “ป้องกันหรือรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (ไม่ให้วินาศภัย)”กลายเป็น “ ป้องกันหรือรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัย (ไม่ให้เสียหายเพิ่มขึ้น)”
นอกจากนั้น ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่รวมอยู่ในจำนวนเงินเอาประกันภัยอีกด้วย กล่าวคือหากต้องชดใช้เต็มตามจำนวนเงินเอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ในส่วนนี้อีก เพราะใช้ถ้อยคำว่า “ค่าใช้จ่ายนี้เป็นส่วนเพิ่มเติมจากจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย” ซึ่งข้อกำหนดนี้ คง เสมือนเป็น Supplementary to the contract of insurance (Section 78 (1) of MIA 1906 )
ด้วยเหตุนี้ หากรายละเอียดข้อสัญญาเป็นดังที่อธิบายมา เห็นว่า ไม่ควรแนบข้อสัญญาชนิดนี้เข้าไปในกรมธรรม์ เนื่องจาก
- มีกฎหมายรับรองเรื่องนี้ไว้อยู่แล้ว
- ข้อสัญญานี้ให้สิทธิแก่ผู้เอาประกันภัยมากกว่าที่กฎหมายไทยบัญญัติไว้
- ถ้อยคำภาษาไทยที่แปลมา มีความเคลือบคลุม ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ ถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในฉบับภาษาอังกฤษ
9.2 Reasonable Precaution Clause
ข้อสัญญานี้ แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “การใช้ความระมัดะวังตามสมควร” ดังเช่นที่กำหนดอยู่ในกรมธรรม์ IAR ข้อที่ 14 “ผู้เอาประกันภัยจะต้องดูแลรักษา รวมทั้งซ่อมบำรุงทรัพย์สินที่เอาประกันภัยให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสมและใช้ความระมัดระวังตามสมควรที่จะป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย”
อันที่จริงข้อสัญญาข้อนี้ หากแปลความโดยเคร่งครัดนั้นแล้วจะเห็นว่า กรมธรรม์กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ดูแลตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ให้มีความเสียหายภัยเพิ่มขึ้น ใน Marine ก็จะเป็นเรื่อง Seaworthiness หรือของรถยนต์ ก็คือ Roadworthiness นั้นเอง
แต่หากแปลความโดยกว้าง ก็อาจนำมาใช้กรณีของ หน้าที่การป้องทรัพย์ได้ (มีข้อความเกี่ยวกับการป้องกันทรัพย์อยู่) กล่าวคือเป็นการเน้นย้ำว่าผู้เอาประกันภัยต้องทำ เมื่อทำแล้วจะสำเร็จหรือไม่ ไม่สำคัญ (ไม่มีถ้อยคำว่าทำแล้วต้องสำเร็จเสมอไป) แต่เมื่อทำแล้ว ผู้รับประกันภัย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนตาม มาตรา 877 (3) เพราะเป็นผลบังคับตามกฎหมาย
อนึ่ง มีการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า ข้อสัญญานี้ทำให้ค่าใช้จ่ายในการป้องกันทรัพย์ที่เกิดขึ้นตกเป็นของผู้เอาประกันภัยเอง ตรงนี้เห็นว่าไม่ใช่ เพราะสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ข้อสัญญานี้ไม่มีการบรรยายข้อเท็จจริงว่า “ค่าใช้จ่ายในส่วนป้องกันนี้เป็นของผู้เอาประกันภัย” จึงไม่สามารถแปลความว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ในเมื่อไม่มีการบรรยายข้อเท็จจริงไว้ การบังคับใช้ข้อสัญญาจึงต้องไปดูที่กฎหมายว่ามีผลบังคับเช่นใด ซึ่งในที่นี้ก็คือ มาตรา 877 (3) นั่นเอง
สรุป การมีข้อสัญญาเช่นนี้นก็ย่อมเป็นการตอกย้ำให้เห็นชัดเจนว่า ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนป้องกันทรัพย์นี้อยู่ด้วย และข้อสัญญานี้จะต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจาก
- ข้อสัญญาข้อนี้ ประสงค์จะเน้นไปที่ ให้ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิของตนโดยสุจริต ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายไทย มาตรา 5 (หลักสุจริต) และมาตรา 879 วรรคแรก (ข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด หากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเท่านั้น)
- คำว่า “ผู้เอาประกันภัย” ในที่นี้ย่อมไม่รวมถึง ลูกจ้างหรือบุคคลใดๆ ที่ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยตามที่ระบุอยู่ในหน้าตารางกรมธรรม์ (คดี Duncan Logan (Contractors) v. Royal Exchange,1973 S.L.T. 192 ( Court of Session)) ซึ่งสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลฎีกาของไทย ดังเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 6809/2539 “ตามสำเนาตารางกรมธรรม์ระบุว่าสัญญาประกันภัยรายนี้จำเลยที่ 2 เป็นผู้เอาประกันภัย และ ป. เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดหากวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 879 และจะแปลความหมาย ของคำว่าผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 879 วรรคหนึ่ง รวมถึงลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยด้วย ก็ขัดกับคำนิยามของคำว่า ” ผู้เอาประกันภัย ” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 862 อีกทั้ง ตามตารางกรมธรรม์ดังกล่าวปรากฎว่ามีข้อยกเว้นที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย ข้อ 2.3 คือความรับผิดเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้หลายประการ แต่ไม่มีกรณีที่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอยู่ด้วย จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เพราะเมื่อไม่มีข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดทั้งตามบทบัญญัติของกฎหมายและตามสัญญาประกันภัยจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามตารางกรมธรรม์”
- ในการเขียนข้อสัญญานั้น โดยปกติ ข้อสัญญาจะต้องประกอบไปด้วย
- การบรรยายข้อเท็จจริง และ
- ผลบังคับตามกฎหมาย (Legal consequence) กล่าวคือ หากไม่เขียนผลบังคับไว้ว่าคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามแล้วจะได้รับผลกระทบอย่างไร การบังคับใช้ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย
แต่ข้อสัญญานี้ จะเห็นว่าถ้อยคำในข้อสัญญาข้อนี้ เขียนข้อเท็จจริง ไม่ครบถ้วน กล่าวคือ ไม่กล่าวถึงค่าใช้จ่ายส่วนนี้ว่า ใครจะต้องเป็นผู้รับภาระ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีผลบังคับไว้ว่าหากไม่ปฏิบัติตามแล้วผลจะเป็นเช่นใด
ดังนั้น จึงต้องบังคับไปตามกฎหมาย ซึ่งการบังคับในข้อเท็จจริงนี้ ก็ต้องไปบังคับตามมาตรา 877 (3) นั่นเอง
10.วิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้
10.1 จะนำเอา Underinsurance Clause มาใช้ไม่ได้ เพราะ ข้อสัญญานี้จะใช้เฉพาะกับกรณีของวัตถุที่เอาประกันภัยที่เป็นตัวทรัพย์เท่านั้น การคำนวณค่าเสียหายจึงต้องแยกกันระหว่าง ค่าเสียหายของตัวทรัพย์ กับ ค่าป้องกันทรัพย์ (Financial Loss)
10.2 นำเอา Contribution Cause มาใช้ได้
10.3 กรณีของ Sub Limit กับ Deductible ต้องดูว่า Wording เขียนอย่างไร
10.3.1 Sub limit เช่น เขียนว่า จำกัดความรับผิดกรณีน้ำท่วม ไม่เกิน 100,000.00 บาท เช่นนี้ ค่าสินไหมทดแทนของตัวทรัพย์และค่าป้องกันเมื่อรวมกันแล้วจะไม่เกิน 100,000.00 บาท
10.3.2 Deductible
เช่น เขียนว่า 100,000.00 บาท ต่อเหตุการณ์แต่ละครั้ง เช่นต้องเอา ค่าเสียหายของตัวทรัพย์และค่าป้องกันทรัพย์รวมกันแล้ว จึงหัก Deductible
แต่หาก เขียนว่า 100,000.00 บาท ต่อความเสียหายแต่ละครั้ง ปัญหาจะเกิดขึ้นว่า คำว่า “ความเสียหาย” มีความหมายอย่างไร เพราะอาจแปลได้ว่า “ความเสียหายต่อตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัย” หรือ “ความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยได้รับในเหตุการณ์นี้”
จบการบรรยาย
หมายเหตุ : ข้อเขียนนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการของผู้เขียน ซึ่งสถาบันฯ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเผยแพร่เท่านั้น สถาบันฯ ไม่รับผิดชอบในความถูกต้องของข้อเขียนชิ้นนี้