คุณทัตเทพ สุจิตจร ผู้อำนวยการ สถาบันประกันภัยไทย หรือ ทีไอไอ (TII) เปิดเผยว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด_19 ผ่านไป จะทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนตามไปแล้วเข้าสู่ยุคใหม่ หรือ New Normal จนทำให้บริษัทประกันภัยมีการปรับตัวและอาจพิจารณาถึงการจัดส่งเจ้าหน้าที่ พนักงาน ตัวแทน นายหน้าประกันภัย เข้าอบรมหรือสอบในสถานที่ที่ต้องอยู่รวมกันเป็นหมู่มากเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จึงเป็นความท้าทายของทีไอไอที่จะยังคงสามารถสร้างความต้องการในการเรียนรู้งานด้านประกันภัยให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องกับคนในอุตสาหกรรม
“หลายบริษัทเริ่มมองในจุดที่ว่า ไม่จำเป็นต้องให้คนมารวมตัวกันมากๆ ในห้องเรียน ขณะเดียวกันมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง เป็นความท้าทายของทีไอไอ ก็คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มาหลากหลายรูปแบบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ แต่ในมุมมองส่วนตัวที่มองเห็นในภาพรวมๆ ส่วนใหญ่ความสำคัญยังอยู่ที่เรื่องของ Entertainment มากกว่า Education
ดังนั้น การวัดความสำเร็จในอนาคตของ E-Learning จะยังวัดไม่ได้ต้องใช้เวลา แม้ทีไอไอจะมีคอนเท้นท์ที่ดีสามารถช่วยได้ในระดับหนึ่งในเวลานี้”
คุณทัตเทพกล่าวต่อว่า จากความท้าทายของทีไอไอ ทำให้มีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับปรับเข้ากับพฤติกรรมผู้บริโภคยุค New Normal ขึ้น เรื่องแรก เป็นความเสี่ยงเรื่องสุขภาพหลังเกิด New Normal เพราะถือเป็น Personalize หรือกรมธรรม์ประกันส่วนบุคคล ต่อมาคือ ความเสี่ยงเรื่อง Commercialize หรือพาณิชกรรมธุรกิจ คนจะมีความกังวลเรื่องประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก แล้วกรมธรรม์ BI บีไอ (Business Interruption) คุ้มครองหรือไม่ หรือ การประกันสินเชื่อทางการค้า (Trade Credit) ที่เกิดจากการล้มละลาย โดยที่ผ่านมาการล้มละลายจะมีกรมธรรม์ฉบับเดียวที่ให้ความคุ้มครองคือ เรื่องของ Trade Credit ซึ่งมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้มากจากวิกฤตครั้งนี้ เพราะลูกค้าก็จะมีความตระหนักถึงความเสี่ยงเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจ SMEs ที่จะเริ่มหันมาตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ ในธุรกิจเพิ่มมากขึ้นด้วย
อย่างกรณี ส่งออกอาจมีการฟ้องร้องตามมาได้ เช่นส่งออกสินค้าแล้วเก็บเงินไม่ได้ เป็นต้น ปัญหาตอนนี้คือ SMEs ไม่รู้ว่า ความเสี่ยง (Risk) คืออะไร แต่ที่ผ่านมา SMEs อาจคิดว่าไม่ถูกฟ้องคือทำให้ไม่ใช่ความเสี่ยง ซึ่งไม่ใช่ แต่ความเสี่ยงคือ โอกาสที่เกิดความเสียหาย เพียงแต่ยังไม่ได้อยู่ในจุดที่ถูกฟ้องมากกว่า และที่ผ่านมาบ้านเรานำเสนอที่เป็นผลิตภัณฑ์แพคเกจ แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยหารือกันว่า ทำไมจะต้องจัดการความเสี่ยงตัวนี้
ดังนั้นบริษัทประกันภัยและนายหน้าประกันภัยยุคใหม่ ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมด้วยความรู้ความเข้าการประกันภัยระดับสูงขึ้น เพื่อสามารถให้การบริการคำแนะนำลูกค้าจนความเข้าใจในเรื่องของการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยคุณทัตเทพ กล่าวขยายความเข้าใจเพิ่มเติมว่า
“สิ่งที่ผมกังวลที่สุดหลังโควิดผ่านไปคือ การเกิดการฟ้องร้องขึ้นในเรื่องของการจ่ายเคลม ถ้าธุรกิจหยุดชะงัก และถ้าประกันภัยไม่จ่าย ผู้บริโภคก็จะฟ้องร้องขึ้น และถ้าซื้อผ่านนายหน้า ผู้บริโภคก็จะฟ้องนายหน้าด้วยเช่นกัน ว่าทำไมนายหน้าไม่ให้ความรู้ ไม่อธิบายตอนที่ซื้อ อันนี้ไม่เกี่ยวกับความคุ้มครองหรือไม่คุ้มครองนะครับ”