การประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ
ทำไมกฎหมายต้องบังคับให้ทำประกันภัยรถตาม พ.ร.บ.
การที่รัฐออกกฎหมายกำหนดให้รถทุกคันต้องจัดให้มีประกันภัย อย่างน้อยที่สุด คือ การทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 โดยมีวัตถุประสงค์
– เพื่อคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ ที่ได้รับบาดเจ็บ/ เสียชีวิต เพราะเหตุประสบภัยจากรถ โดยให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงทีกรณีบาดเจ็บ หรือช่วยเป็นค่าปลงศพกรณีเสียชีวิต
– เป็นหลักประกันให้กับโรงพยาบาล / สถานพยาบาลว่าจะได้รับค่ารักษาพยาบาล ในการรับรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ
– เป็นสวัสดิสงเคราะห์ที่รัฐมอบให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เพราะเหตุประสบภัยจากรถ
– ส่งเสริมและสนับสนุนให้การประกันภัยเข้ามามีส่วนร่วมในการบรรเทาความเดือนร้อน แก่ผู้ประสบภัยและครอบครัว
รถประเภทใดที่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.
– รถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ได้แก่รถทุกชนิดทุกประเภทตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ทหาร ที่เจ้าของมีไว้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ ไม่ว่ารถ ดังกล่าวจะเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่น เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถยนต์โดยสาร รถบรรทุก หัวรถลากจูง รถพ่วง รถบดถนน รถอีแต๋น ฯลฯ
– ดังนั้น การที่มีรถบางประเภท กรมการขนส่งทางบกไม่รับจดทะเบียน แต่หากเข้าข่ายว่ารถนั้นเดินด้วยกำลังเครื่องยนต์ กำลังไฟฟ้า หรือพลังงานอื่นแล้วก็จัดเป็นรถที่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.
รถประเภทใดที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำประกันภัย พ.ร.บ.
พรบ. คุ้มครอง ฯ กำหนดประเภทรถที่ไม่ต้องทำประกันภัยตาม พ.ร.บ. ไว้ดังนี้
– รถสำหรับเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ พระรัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
– รถของสำนักพระราชวังที่จดทะเบียน และมีเครื่องหมายตามระเบียบที่เลขาธิการพระราชวังกำหนด
– รถของกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการต่าง ๆ รถยนต์ทหาร
– รถของหน่วยงานธุรการขององค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานธุรการ ที่เป็นอิสระขององค์กรใด ๆ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ใครมีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ / โทษการไม่ทำประกันภัย
– ผู้มีหน้าที่ต้องทำประกันภัยรถ ได้แก่ เจ้าของรถผู้ครอบครองรถในฐานะผู้เช่าซื้อรถ และผู้นำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศ
– การฝ่าฝืนไม่จัดให้มีการทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 กำหนดให้ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ผู้ที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.
– ผู้ประสบภัย อันได้แก่ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสารคนเดินเท้า หากได้รับความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย อนามัย อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่เกิดจากรถ ก็จะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
– ทายาทของผู้ประสบภัยข้างต้น กรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
ผู้มีหน้าที่รับประกันภัย/โทษของการไม่รับประกันภัย
– ผู้มีหน้าที่ต้องรับประกันภัย คือ บริษัทประกันวินาศภัยที่รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยรถ ประชาชนสามารถทำประกันภัยรถ พ.ร.บ. ได้ที่บริษัทประกันภัยข้างต้นรวมถึงสาขาของบริษัทนั้น ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ที่รับประกันภัยเฉพาะรถจักรยานยนต์ มีสาขาให้บริการทั่วประเทศ
– บริษัทใดฝ่าฝืนไม่รับประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. คุ้มครอง ฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 25,000 บาท
อัตราเบี้ยประกันภัย พ.ร.บ.
– กำหนดเป็นอัตราเบี้ยประกันภัยสูงสุด (ขั้นสูง) อัตราเดียว แยกตามประเภทรถ และลักษณะการใช้รถ บริษัทไม่สามารถคิดเบี้ยประกันภัยเกินกว่าที่กำหนดได้
– ประเภทรถ เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง ฯลฯ
– ลักษณะการใช้รถ แบ่งเป็น 2 ลักษณะการใช้ คือ ส่วนบุคคล และรับจ้าง/ให้เช่า
– เช่น รถเก๋ง คือ ประเภทรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คน หากการใช้รถเป็นรถส่วนบุคคล เบี้ยประกันภัย 800 บาท(ไม่รวมภาษีอากร) หากลักษณะการใช้รถเป็นรถรับจ้างหรือให้เช่า เบี้ยประกันภัย เป็น 1,900 บาท(ไม่รวมภาษีอากร)
ความคุ้มครองเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.
ผู้ประสบภัย จะได้รับความคุ้มครองในความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บ เป็นค่าปลงศพในกรณีเสียชีวิต โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความผิด บริษัทจะชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัย/ทายาทของผู้ประสบภัย ภายใน 7 วัน นับแต่บริษัทได้รับคำร้องขอ ค่าเสียหาย ดังกล่าว เรียกว่า “ค่าเสียหายเบื้องต้น” โดยมีจำนวนเงิน ดังนี้
– กรณีบาดเจ็บ จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
– กรณีเสียชีวิต จะได้รับการชดใช้เป็นค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา)
– กรณีเสียชีวิตภายหลังการรักษาพยาบาล จะได้รับการชดใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) รวมแล้วจะได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
ค่าเสียหายส่วนเกินกว่าค่าเสียหายเบื้องต้น
เป็นค่าเสียหายที่บริษัทจะชดใช้ให้ภายหลังจากที่มีการพิสูจน์ความรับผิดตามกฎหมายแล้ว โดยบริษัทที่รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ประสบภัย/ทายาทผู้ประสบภัย เมื่อรวมกับค่าเสียหายเบื้องต้นที่ผู้ประสบภัย/ทายาทได้รับแล้ว เป็นดังนี้
กรณีบาดเจ็บ เป็นค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลตามความเป็นจริงไม่เกิน 50,000 บาท
กรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ไม่ว่าจะมีการรักษาพยาบาลหรือไม่
รถ 2 คัน ชนกัน ผู้ประสบภัยเป็นผู้โดยสาร พ.ร.บ. คุ้มครองเท่าใด
– กรณีรถตั้งแต่ 2 คัน ขึ้นไป ชนกัน ต่างฝ่ายต่างมีประกันตาม พ.ร.บ. และไม่มีผู้ใดยอมรับผิดในเหตุที่เกิด ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองตามหลักการสำรองจ่าย
– กรณีบาดเจ็บ บริษัทจะสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จ จำนวนเงินไม่เกิน 50,000 บาท
ต่อคน แก่ผู้ประสบภัย
– กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร บริษัทจะสำรองจ่ายทดแทน/ค่าปลงศพ จำนวน 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) ต่อคน แก่ทายาทผู้ประสบภัย
ความคุ้มครองกรณีอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี
– กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้ขับขี่และเป็นฝ่ายผิดเอง หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย ดังนี้ ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่จะได้รับความคุ้มครองไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น กล่าวคือ หากบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 15,000 บาท หรือเสียชีวิตจะได้รับค่าปลงศพ จำนวน 35,000 บาท หรือเสียชีวิตภายหลังรักษาพยาบาลจะรับค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
– กรณีผู้ประสบภัย ที่เป็นผู้โดยสาร/บุคคลภายนอกรถ จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายไม่เกิน 50,000 บาท กรณีบาดเจ็บ และ 100,000 บาท (เฉพาะกรมธรรม์คุ้มครองตั้งแต่ 1 เมษายน 2546 เป็นต้นมา) กรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร (ทั้งนี้ ผู้ขับขี่รถที่บริษัทรับประกันภัยไว้ต้องเป็นฝ่ายรับผิดตามกฎหมาย)
ข้อพึงปฏิบัติเมื่อประสบภัยจากรถ
เมื่ออุบัติเหตุรถยนต์เกิดขึ้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ หรือผู้พบเห็น ควรปฏิบัติ ดังนี้
กรณีมีผู้บาดเจ็บ
- นำคนเจ็บเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและสะดวกที่สุดก่อน
- แจ้งเหตุที่เกิดให้ตำรวจทราบ และขอสำเนาประจำวันตำรวจเก็บไว้
- แจ้งเหตุบริษัทประกันภัยทราบ แจ้งวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ
- เตรียมเอกสาร อาทิ ถ่ายสำเนากรมธรรม์ประกันภัยรถคันเกิดเหตุ ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ออกโดยราชการ กรณีเมื่อเรียกร้องค่าเสียหาย
- ให้ชื่อ ที่อยู่ ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์เพื่อช่วยเหลือในการเป็นพยานให้แก่คนเจ็บ
ข้อพึงปฏิบัติของสถานพยาบาลเมื่อรับผู้ประสบภัย
เมื่อสถานพยาบาลรับผู้ประสบภัยที่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ ควรปฏิบัติ ดังนี้
- ให้การรักษาพยาบาลทันที
- ทำประวัติคนไข้ และขอสำเนาบัตรประจำตัวคนเจ็บ
- ขอสำเนาประจำวันตำรวจ
- บันทึกชื่อบริษัทประกันภัย ของสำเนากรมธรรม์ประกันภัย
- บันทึกชื่อ ที่อยู่ ผู้นำคนเจ็บส่งเข้ารักษาพยาบาล
อย่างไรจึงจะได้รับความคุ้มครองในกรณีสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพ
ผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องสูญเสียอวัยวะ/ทุพพลภาพอย่างถาวร ที่จะได้รับจำนวนเงินความคุ้มครอง 80,000 บาท ในกรณีใดกรณีหนึ่ง ต่อไปนี้
- ตาบอด
- หนูหนวก
- เป็นใบ้ หรือเสียความสามารถในการพูด หรือลิ้นขาด
- สูญเสียอวัยวะสืบพันธุ์
- เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้ว หรืออวัยวะอื่นใด
- จิตพิการอย่างติดตัว
- ทุพพลภาพอย่างถาวร
การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัย ผู้ประสบภัย/ทายาทต้องยื่นคำร้องขอรับค่าเสียหายเบื้องต้น
ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ความเสียหายเกิดขึ้น โดยยื่นคำร้องต่อบริษัทประกันภัย / บริษัทกลางคุ้มครอง
ผู้ประสบภัยจากรถ ฯ หรือสำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยกรณีไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหาย จากบริษัทประกันภัยได้ พร้อมหลักฐาน ดังนี้
- ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล / สถานพยาบาล
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้มีชื่อในบัตรเป็นผู้ประสบภัย
- สำเนากรมธรรม์ประกันภัย หรือ เครื่องหมายที่แสดงว่ารถมีประกันภัย
- สำเนาใบมรณบัตร กรณีเสียชีวิต
- สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ
- สำเนาทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวของทายาทกรณีผู้ประสบภัยเสียชีวิต
บริษัท กลางผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด
บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เป็นบริษัทประกันวินาศภัย ตั้งขึ้นโดยกฎหมาย คือ
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2540 มีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการรับคำร้อง และจ่ายค่าสินไหมทดแทนตาม พ.ร.บ. แทนบริษัทประกันภัย มุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัย ที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากบริาทที่รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุ
นอกจากนี้ บริษัท กลาง ฯ ยังรับประกันภัยตาม พ.ร.บ. เฉพาะรถจักรยานยนต์ โดยปัจจุบันมีสาขาให้บริการทุกจังหวัดแล้ว
เครื่องหมายที่แสดงว่ามีการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.
– เมื่อทำประกันภัยผู้เอาประกันภัยจะได้รับกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พร้อมเครื่องหมาย ที่แสดงว่ามีการประกันภัย
– เครื่องหมาย ฯ ต้องติดไว้ที่กระจกหน้ารถด้านใน หรือติดไว้ในที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
– การไม่ติดเครื่องหมายมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
เครื่องหมายชำรุด / สูญหาย
กรณีเครื่องหมายชำรุด/สูญหาย สามารถขอรับเครื่องหมายแทนได้ที่
สำนักนายทะเบียนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมการประกันภัย
สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต ทั้ง 4 เขต
สำนักงานประกันภัยทุกจังหวัด
โดยหลักฐาน ดังนี้
- ใบแจ้งความกรณีเครื่องหมายหาย
- เครื่องหมายเดิมชำรุด
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกัน พร้อมสำเนาภาพถ่ายที่รับรองถูกต้อง หรือหลักฐานอื่นที่ใช้แทนบัตรประชาชน หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว หรือหนังสือเดินทาง แล้วแต่กรณี หากผู้เอาประกันภัยเป็นนิติบุคคล ให้นำภาพถ่ายหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคล เพื่อแสดงชื่อบุคคลที่สามารถกระทำการแทนนิติบุคคล
- ตารางกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หรือตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ตัวจริงพร้อมสำเนา 1 ชุด หากตารางกรมธรรม์ ฯ สูญหาย ให้ใช้สำเนาตารางกรมธรรม์ ฯ ที่รับรองถูกต้องโดยบริษัทประกันภัยและประทับตราบริษัทแทน
- กรณีผู้รับมอบอำนาจเป็นผู้ยื่นขอรับเครื่องหมายแทน ให้ทำหนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์ 10 บาท) จากผู้เอาประกันภัย ถ่ายสำเนาบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจที่รับรองถูกต้อง
กองทุนทดแทนผู้ประสบภัยคืออะไร
– กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
– มีหน้าที่ จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย หากผู้ประสบภัยไม่ได้รับการชดใช้จากบริษัท
ประกันภัย/เจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัย หรือไม่สามารถเรียกร้องจากที่ใดได้ เช่น รถชนแล้วหนี เจ้าของรถที่ไม่จัดให้มีประกันภัยไม่จ่ายค่าเสียหาย ฯลฯ การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุน ฯ ผู้ประสบภัย / ทายาท ต้องยื่นภายใน 180 วัน นับแต่วันเกิดเหตุ
การยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุน
ผู้ประสบภัย/ทายาท สามารถยื่นคำร้องขอรับเสียหายเบื้องต้น จากกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย ได้ที่
- สำนักงานกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กรมการประกันภัย
- สำนักงานประกันภัยจังหวัดทุกจังหวัด
- สำนักงานคุ้มครองผู้เอาประกันภัยเขต 4 เขต
การบอกเลิกกรมธรรม์
การบอกเลิกกรมธรรม์ มี 2 กรณี
1. บริษัทบอกเลิก
- ต้องแจ้งการบอกเลิกเป็นหนังสือ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ตอบรับถึงผู้เอาประกันภัย
- ต้องแจ้งการบอกเลิกนั้นไปยังนายทะเบียน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่บริษัทส่งหนังสือบอกเลิก ไปยังผู้เอาประกันภัย
- บริษัทจะคืนเบี้ยประกันภัย โดยหักเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ได้ใช้บังคับมา แล้วออกตามส่วน
- บริษัทต้องส่งเครื่องหมายคืนนายทะเบียน/ทำลายเครื่องหมายนั้นให้ใช้การไม่ได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันครบกำหนด 30 วัน ที่บริษัทได้บอกเลิก
2. ผู้เอาประกันภัยบอกเลิก
- ต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษร และมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืนตามอัตราเบี้ยประกันภัยที่ระบุ
- ผู้เอาประกันภัย ต้องส่งเครื่องหมายคืนนายทะเบียน / ทำลายเครื่องหมายนั้นให้ใช้การไม่ได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยบอกเลิก
- กรณีผู้เอาประกันภัยบอกเลิก บริษัทต้องแจ้งการบอกเลิกให้นายทะเบียนทราบเป็นหนังสือ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับ
ที่มา : เว็บไซต์ของกรมการประกันภัย http://www.oic.or.th/